โหมโรง (The Overture)
หนังเล่าเรื่องของ ศร เด็กชายที่เข้าสูวงการดนตรีไทยด้วยการเล่นระนาด ซึ่งมีแรงผลักดันจากความตายของพี่ชาย โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาระนาดจากพ่อ จนสามารถกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับหมู่บ้าน ส่งผลให้เขาเกิดความทะเยอทะยาน ทะนงตน จนต้องรบเร้าให้พ่อพาเข้าบางกอก ที่นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ครั้งแรกในชีวิต
จากนั้น ศร กลับสู่บ้านอย่างหมดความมั่นใจ และสับสน แต่มันก็กลายเป็นพลังให้เขาฝึกฝน และคิดสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ในการเล่นระนาดที่ไม่เหมือนใคร จนในที่สุดความสามารถของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสายพระเนตร เจ้าชายแห่งสยาม ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และมอบหมายให้เขาเป็นนักดนตรีในราชสำนัก ทำให้ ศร ได้พบโลกที่แตกต่างกับโลกของสามัญชนโดยสิ้นเชิง จากนั้นไม่นานเขาก็จำเป็นต้องกลับออกมาล้างตากับ มือระนาดเอกที่มอบความพ่ายแพ้แก่เขาในครั้งก่อน
ศร ท่องประลองฝีมือไปทั่วในยุคทองของดนตรีไทย จนเป็นที่รู้จักและได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งระนาด แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น และวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่สยามประเทศ ศิลปะไทยทั้งหลายถูกต่อต้าน และแทรกแซงโดยรัฐบาลเผด็จการ การเล่นดนตรีไทยถูกตัดสินว่าไร้อารยธรรม สร้างความปวดร้าวให้แก่ ศร ที่ต้องเผชิญกับคำท้าทายครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อปกป้องและหวงแหนดนตรีไทยอันเป็นที่รักของเขาให้ยืนยงต่อไป
กระทั่งได้มีโอกาสเดินทางเข้าสู่บางกอก เมื่อบิดาได้พาไปชมการประชันทางด้านการแสดงระนาดของคณะครูแก้ว ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบิดา ที่นั่นเองที่ศรได้เรียนรู้ถึงความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก เมื่อได้มีโอกาสขึ้นเล่นระนาดแทน นายขวด (บุ๋มบิ๋ม) ซึ่งเป็นมือระนาดเอกของคณะครูแก้ว จนตกอยู่ในห้วงการประชันทางฝีไม้ลายมือกับ ขุนอิน (อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า) นักระนาดเอกผู้มีทางระนาดที่แข็งกร้าวดุดัน และเป็น 1 ไม่เป็น 2 รองใคร จนพบกับความปราชัย
ศร ซี่งครั้งหนึ่งเคยมั่นใจ และลำพองในฝีมือระนาดของตนเอง ต้องเดินทางกลับบ้านด้วยหัวใจที่แตกสลาย เสียงระนาดอันดุดันหนักหน่วงของขุนอิน ยังคงดังกึกก้อง เป็นเหมือนภาพหลอนที่ยังคงอยู่ในศีรษะของเขา หลังจากความภาคภูมิใจถูกทำลายไปจนหมดสิ้น แต่แล้วความสับสน ท้อแท้ สิ้นหวังกลับกลายเป็นความมุมานะที่จะฝึกฝนฝีมือ จนสามารถคิดค้นเทคนิคการตีระนาดที่ไม่เหมือนใคร จนชื่อเสียงของศรร่ำลือไปจนถึงพระบรมมหาราชวัง ศรได้รับการอุปถัมภ์ให้เป็นนักดนตรีประจำราชสำนักจากเจ้านายในวัง (สมภพ เบญจาธิกุล) จนได้พบกับ แม่โชติ (อาระตี ตันมหาพราน) สตรีผู้สูงศักดิ์ในวัง และได้กลายเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา
หนทางการเป็นนักระนาดเอกมือหนึ่งของแผ่นดิน ดูเหมือนยังคงห่างไกลจากจุดที่ศรยืนอยู่ ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ศรจะต้องเรียนรู้ ตั้งแต่การฝึกสมาธิ, การควบคุมสติ และอารมณ์ ที่พร้อมจะพลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่สามารถสะบัดเสียงตีระนาด ที่แสนจะบาดหูจากระนาดทางดุอย่างขุนอิน ยังมีบททดสอบอีกหลายประการ ที่การพิสูจน์ในความสามารถที่แท้จริงของศร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลายทางกับการประลองความสามารถทางระนาด กับมือหนึ่งของแผ่นดินอย่างขุนอิน ในที่สุด ศรก็สามารถเอาสติชนะขุนอินคู่ปรับเก่าได้
ศรเดินทางผ่านยุคทองของดนตรีไทย จากวัยหนุ่มสู่วัยชรา เขากลายมาเป็น ท่านครู (อดุลย์ ดุลยรัตน์) ครูดนตรีอาวุโส ผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมทั้ง เทิด (ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง) ลูกชายของทิว เพื่อนสนิทแต่วัยเยาว์ ซึ่งเดินทางมาขอฝากตัวเป็นศิษย์ และคอยอยู่ดูแลรับใช้ใกล้ชิด ในวัยที่ร่วงโรยนี้ ท่านครูยังคงเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งกระแสดนตรีตะวันตก ที่ ประสิทธิ์ (สุเมธ องอาจ) ลูกชายของท่านเอง ที่ได้เดินทางไปศึกษา และติดเอามาจากประเทศญี่ปุ่น แต่แล้ว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของบ้านเมือง ทั้งด้านการปกครองและวัฒนธรรม รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประเทศ และพลเมืองให้มีความทันสมัย เป็นอารยะตามแบบชาติตะวันตก มีกฏระเบียบมากมายออกมา ควบคุมศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ รวมทั้งดนตรีไทย โดยมีนายทหารหนุ่ม พันโทวีระ (พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) เป็นผู้ดูแลนโยบายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบ และสร้างความปวดร้าวแก่นักดนตรีไทยทุกคน รวมทั้งท่านครู ซึ่งยังคงหาญกล้า ใช้เสียงเพลงของเขาต่อสู้ เพื่อพิสูจน์คุณค่าของดนตรีไทยที่เขารักดั่งชีวิต ดูเหมือนว่า ชะตากรรมจะนำให้บุรุษหนึ่ง ได้เดินทางผ่านยุคทองแห่งดนตรีไทย ค้นพบชัยชนะและความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญจากวัยเยาว์ สู่ช่วงบั้นปลายของวัยชรา จากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุด เมื่อดนตรีไทยเริ่มถูกปิดกั้นจากทางรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศเป็นศิวิไลซ์ เป็นอารยะตามแบบตะวันตก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สร้างความปวดร้าวให้กับคนดนตรีไทยทุกคน รวมทั้งศร แต่เขาก็ยังหาญกล้าใช้เสียงเพลงต่อสู้ เพื่อให้ดนตรีไทยที่เขารักดั่งชีวิตนั้น อยู่รอดจากการถูกทำลาย…