Home » » รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ ชมรมวิจารณ์บันเทิง 2548 : ปง อัศวินิกุล

รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ ชมรมวิจารณ์บันเทิง 2548 : ปง อัศวินิกุล



ปง อัศวินิกุล ผู้บันทึกเสียงภาพยนตร์ระดับปรมาจารย์ของไทย

ในรอบกว่าห้าสิบปีที่ผ่านมา ชื่อ ปง อัศวินิกุล ปรากฏอยู่ในไตเติ้ลภาพยนตร์ไทยเรื่องแล้วเรื่องเล่า ในฐานะผู้บันทึกเสียงภาพยนตร์ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำเสียงลงเสียงฟิล์มสำหรับภาพยนตร์ไทย จนได้ฉายา ช่างอัดเสียงมือหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย

ปัจจุบันนี้ด้วยวัย 75 ปี คุณปงยังคงทำงานด้านบันทึกเสียง พัฒนากิจการต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ภายใต้ชื่อห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ซึ่งในแวดวงคนทำหนังทั้งในและนอกประเทศต่างรู้จักและเชื่อมั่นในคุณภาพกันเป็นอย่างดี

ปง อัศวินิกุล เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตเติบโตขึ้นสู่วัยหนุ่มภายในครอบครัวของ รัตน์ เปสตันยี บุคคลสำคัญท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ซึ่งคุณปงเคารพนับถือเป็นเจ้านายผู้มีพระคุณและเป็นครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาทางการผลิตภาพยนตร์

ปี พ.ศ. 2494 คุณรัตน์ได้ทอลองสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ตุ๊กตาจ๋า” เป็นภาพยนตร์สี 16 มม ใช้ระบบเสียงพากย์ตามกระแสตลาดหนังไทยในสมัยนั้น โดยคุณรัตน์เป็นผู้กำกับและถ่ายภาพ คุณปงในวัย 22 ปี ได้รับความวางใจให้ท่ำหน้าที่ผู้ช่วยกล้อง ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นอาชีพในวงการภาพยนตร์ของคุณปง

ความสำเร็จของ “ตุ๊กตาจ๋า” ทำให้คุณรัตน์ตกลงใจยึดอาชีพสร้างภาพยนตร์อย่างจริงจัง โดยก่อตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร์ และลงทุนสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ระบบเสียงขึ้นที่บ้านถนนวิทยุ มีการสั่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามา รวมทั้งอุปกรณ์บันทึเสียงซึ่งคุณปงได้รับความไว้วางใจจากคุณรัตน์ให้เรียนรู้-ฝึกหัดกับช่างเทคนิคชาวต่างประเทศ


ผลงานสำคัญชิ้นแรกของหนุมานภาพยนตร์คือ “สันติ-วีณา” ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบให้ทันส่งเข้าประกวดภาพยนตร์โลกภาคเอเชียครั้งแรกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2497 โดย วิจิตร คุณาวุฒิ เขียนบท, มารุต กำกับการแสดง คุณรัตน์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง กำกับภาพ ตัดต่อ และคุณปงเป็นผู้บันทึกเสียง

ผลปรากฏว่า “สันติ-วีณา” คว้ามาได้ 3 รางวัลคือ รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม, รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษจากผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการประกวดภาพยนตร์ระดับโลก

ในขณะที่ผู้สร้างรายอื่นยังคงสร้างภาพยนตร์ตามกระแสความนิยมของคนดูในระบบ 16 มิลลิเมตร พากย์ และประกอบเสียงในโรงภาพยนตร์ คุณรัตน์ยืนหยัดผลิตภาพยนตร์ไทยในนามหนุมานภาพยนตร์ ทั้งภาพยนตร์เรื่องยาว ภาพยนตร์สารคดีในระบบ 35 มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม โดยคุณปงได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือใหม่ ๆ และทำหน้าที่ผู้บันทึกเสียงภาพยนตร์ทุกเรื่องของหนุมานภาพยนตร์

เมื่อมีการจัดงานประกวดภาพยนตร์ไทยครั้งแรกจัดโดยสภาหอการค้าไทยในปี พ.ศ. 2500 คุณปงเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลสำเภาทอง ผู้บันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากเรื่อง “ชั่วฟ้า ดินสลาย” ของหนุมานภาพยนตร์ และได้รับต่อเนื่องมาอีกในปีที่สองซึ่งเปลี่ยนเป็นรางวัลตุ๊กตาทองจากเรื่อง “รักริษยา” ของกรรณสูตภาพยนตร์

ยุคการทำงานกับหนุมานภาพยนตร์สิ้นสุดลงในปี 2513 หลังจากคุณรัตน์ถึงแก่กรรม ในยุคต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2513-2519 เป็นช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยค่อย ๆ ปรับตัวพัฒนาขึ้น นับว่าคุณปงเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนภาพยนตร์ไทยจากระบบ 16 มิลลิเมตร พากย์สด เข้าสู่ระบบ 35 มิลลิเมตร บันทึกเสียงทั้งหมดลงในฟิล์ม แต่โดยที่คุณภาพของแล็บพิมพ์ฟิล์มที่มีอยู่ในประเทศยังไม่ได้มาตรฐานเป็นที่พอใจของเจ้าของหนัง คุณปงจึงต้องนำฟิล์มและแถบเทปบันทึกเสียงเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น หรือฮ่องกง เพื่อไปทำงานในแล็บต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ คุณปงได้ศึกษาและจดจำวิธีการทำงานบางขั้นตอนการทำเสียงในแล็บจนเริ่มแตกฉาน ประกอบกับจำนวนภาพยนตร์เริ่มมากขึ้นทำให้มีปัญหากับระยะเวลาทำงาน การแก้ไขงานการขนส่ง การเซ็นเซอร์ ซึ่งบางเรื่องเกือบไม่ทันกับโปรแกรมเข้าฉาย คุณปงจึงมีความคิดที่จะทำเสียงทั้งหมดจนถึงขั้นตอนผสมเสียงแล้วเสร็จด้วยตัวเองในประเทศไทย

ห้องบันทึกเสียง รามอินทรา เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2520 และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากห้องบันทึกเสียงขนาดไม่ใหญ่โตนักเพียงห้องเดียว กลายเป็นห้องบันทึกเสียงที่สามารถจบกระบวนการทำเสียงในที่เดียว และด้วยฝีมือและการพัฒนาคิดค้นเทคนิคใหม่ ๆ ของคุณปงและทีมงาน ทำให้คุณภาพของงานเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองห้องบันทึกเสียงรามอินทราจึงได้รับรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากทุกสถาบันติดต่อกันแทบทุกปี

ปี พ.ศ. 2533 ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ได้รับความไว้วางใจให้รับงานมิกซ์เสียงภาพยนตร์ต่างประเทศที่พากย์ภาษาไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์จากบริษัทต่าง ๆ ในฮอลลีวู้ด อย่างเช่น ดิสนีย์ และจากการแนะนำและช่วยเหลือจากผู้บริหารของค่ายนี้ให้คุณปงตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบเสียงทั้งหมดของห้องอัดคุณปงจากระบบอนาลอก (ANALOG) เข้าสู่ระบบดิจิตอล (DIGITAL)

ปี พ.ศ. 2536 ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ได้พิสูจน์ผลงานจนได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์จากบริษัท DOLBY ประเทศอังกฤษ ให้เป็นผู้มิกซ์เสียงภาพยนตร์ในระบบ DOLBY STEREO SR เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2538 ห้องบันทึกเสียงรามอินทราได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์ให้เป็นผู้มิกซ์เสียงระบบ DOLBY

ปี พ.ศ. 2542 ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์ติดตั้งระบบมิกซ์เสียงเพิ่ม เป็นระบบ DOLBY DIGITAL SURROUND EX และในปีเดียวกันนี้ คุณปงยังได้รับเลือกจาก มูลนิธิหนังไทย มอบรางวัลอนุสรมงคลการประจำปี พ.ศ. 2542 เพื่อเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทยแก่คุณปงอีกด้วย

ปัจจุบัน อาคารใหม่พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วยห้องมิกซ์เสียง พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาตรฐานโลก 2 ห้อง ซึ่งสามารถมิกซ์ได้ทุกระบบ, ห้องตัดต่อภาพยนตร์ระบบอนไลน์ (AVIDOFFLINE EDITING) 3 ห้อง,ห้องเทเลซีน (TELECINE) อีกทั้งยังติดต่อระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อรับส่งไฟล์ต่าง ๆ กับต่างประเทศโดยตรงในระบบดิจิตอล นอกจากนี้ยังมีห้องถ่ายเสียงลงฟิล์ม (OPTICAL SOUND TRANSFER) ซึ่งทุกวันนี้คุณปงจะเป็นผู้รับผิดชอบทำงานและควบคุมภาพด้านนี้ด้วยตัวเองทุกครั้ง และกำลังเร่งปรับปรุง ตบแต่งห้องมิกซ์เสียงดั้งเดิมขึ้นใหม่ให้ได้มาตรฐานเดียวกัน พร้อมเปลี่ยนอุปกรณ์บันทึกเสียงใหม่ทั้งหมดให้ทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีก


คุณปง เปรยกับทุกคนบ่อย ๆ ว่า “อาชีพทำเสียงมันมีกรรม ต้องลงทุนไม่รู้จักจบสิ้น ชีวิตเลยมีแต่หนี้ ลืมตาอ้าปากเต็มที่ไม่ได้ซักที ลูกหลานก็คงต้องรับมรดกหนี้อันนี้ต่อ ๆ กันไปอีก สงสารลูกมากโดยเฉพาะสุนิตย์ ถ้าไม่มีลูกคนนี้ ไม่รู้ว่าจะมาถึงวันนี้ได้หรือเปล่า แต่ตัวเองและลูก รักและเลือกที่จะทำอาชีพนี้แล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุดเต็มสติปัญญาความสามารถของเรา ประคับประคอง อดทน ต่อสู้ให้ถึงที่สุด จนวันสุดท้ายของชีวิต”

จากประวัติการทำงานของคุณปง อัศวินิกุล จะเห็นได้ชัดเจนว่า คุณปง อัศวินิกุล เป็นบุคคลที่ยึดอาชีพในวงการผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย ที่มีความมุมานะพยายามศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ เป็นพ่อที่ดี เป็นครูที่สูงส่ง สั่งสมประสบการณ์มาต่อเนื่องยาวนานจนสามารถทำให้กิจการของตัวเองเป็นปึกแผ่นและยั่งยืน ผลงานของท่านถือได้ว่ามีส่วนัฒนากิจการภาพยนตร์ไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากล

จวบจนวันนี้ด้วยวัย 75 ปี คุณปง อัศวินิกุล ท่านก็ยังคงทำงานในอาชีพที่ตนรักและเลือก ร่วมกับลูก ๆ หลาน ๆ และพร้อมที่จะต่อสู่ต่อไปจนวันสุดท้ายของชีวิตที่ได้ชื่อว่า….คนทำเสียงหนัง

***รวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์โดย พูนศักดิ์ อุทัยพันธ์***

***ขอขอบคุณข้อมูลจากสูจิบัตรรางวัลภาพยนตร์ไทย 2548 ชมรมวิจารณ์บันเทิง***

Share this article :

แสดงความคิดเห็น