Home » » มหา’ลัย เหมืองแร่

มหา’ลัย เหมืองแร่

 


คำโปรย : “จากหนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน สู่หนึ่งในภาพยนตร์ที่คนไทยควรดู”

เนื้อเรื่องย่อ: ปี พ.ศ. 2492 โชคชะตาของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ได้นำพาให้เขาต้องเดินทางข้ามฟากจากโลกศิวิไลซ์ในเมืองหลวง ไปสู่อีกโลกหนึ่งอันไกลแสนไกล “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ในวัย 22 ปี คือเด็กหนุ่มคนนั้น เขาถูกรีไทร์จากคณะวิศวะฯ ปี 2 ...นั่นเองเป็นจุดสิ้นสุดของความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน มันคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่การเรียนรู้ชีวิตจริงที่ไม่สามารถเรียนรู้จากตำราเล่มไหน มันไม่ได้มีวางขายทั่วไปและหาซื้อได้ด้วยเงิน มันต้องแลกด้วยเวลาและหัวใจ ...สู้ - ท้อแท้, สนุก - เศร้า, พบ - จาก... อาจินต์ในเวลานั้น ขณะที่เขานั่งอยู่บนรถขนหมูที่วิ่งจากภูเก็ตไปพังงา ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ไม่รู้จักกระทั่งสถานที่ที่เขากำลังจะไป สำหรับเขา จ.พังงา อ.ตะกั่วทุ่ง ต.กระโสม เคยเป็นเพียงสถานที่อันไม่มีความสำคัญใดใดแม้เพียงจะจุดลงบนแผนที่ แต่ในวันนี้ มันกำลังจะกลายเป็นสถานดัดสันดานที่ถูกพ่อส่งให้ไปอยู่ อาจินต์มาถึงเหมืองกระโสม ที่นี่เขาได้พบและสัมภาษณ์งานกับนายฝรั่ง และนายฝรั่งก็รับเขาเข้าทำงานในตำแหน่งที่นายฝรั่งเรียกว่าเป็น “สมุดพก” ให้กับแก นั่นหมายถึงการฝึกงาน การติดตามนายฝรั่ง และทำงานแทนคนงานที่ขาดงาน อาจินต์ภูมิใจกับงานที่ได้รับ และที่นี่ วันนี้ ชีวิตปี 1 ในมหา’ลัย เหมืองแร่ได้เริ่มขึ้นแล้ว...เขาต้องสู้และเรียนรู้อยู่กับมหาลัย และจะเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง กับมหาลัยชีวิตแห่งนี้

นักแสดง:

พิชญะ วัชจิตพันธ์ .... อาจินต์ ปัญจพรรค์ 
ดลยา หมัดชา .... สาวละเอียด 
นิรันต์ ซัตตาร์ .... พี่จอน 
สนธยา ชิตมณี .... ไอ้ไข่ 

ความยาว: 111 นาที
ระบบถ่ายทำ: ฟิล์ม 35 มม., สี
วันที่เข้าฉาย: 26 พฤษภาคม 2548

ที่มา : บริษัทผู้สร้าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ภาพยนตร์


มหาลัย สอนให้รักชาติ เหมืองแร่ สอนให้รักชีวิต

"ทฤษฎีปลั๊กไฟเนี่ย ผมเปรียบกับเวลาเราจะสอนน้องใหม่ ๆ ทำงานหรือทำอะไรซักอย่าง ผมรู้สึกว่ามนุษย์เรามีการเรียนรู้ในความกลัวติดตัวมาแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปบอกเขาก่อนหรอก คือสมมติว่าถ้าเราปล่อยเด็กคนหนึ่งคลานอยู่ในห้องนี้ เขาก็จะคลานไปในทุก ๆ ที่ที่เขาจะไปได้ เขามีอิสระมาก ถ้าไม่มีประตู เขาก็จะคลานออกไปข้างนอก ถ้าไม่มีประตูใหญ่ เขาก็จะคลานไปที่ถนน แต่ว่าทันทีที่เขาคลานไปแล้วมีปลั๊กไฟอยู่ปลั๊กหนึ่ง แล้วเขาเอานิ้วไปแหย่แล้วมันมีไฟดูด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไปผมเชื่อว่า เด็กคนนั้นจะไม่คลานไปตรงพื้นที่รอบ ๆ ปลั๊กไฟนั้นอีกแล้ว แล้วที่อยู่ของเขาก็จะแคบลง ๆ

ผมจะชอบสอนน้อง ๆ ที่ทำงานด้วยกันโดยการไม่บอกตำแหน่งปลั๊กไฟให้เขาก่อน คือไม่ว่าผู้ช่วยผมที่นี่ หรือว่าใครที่ทำงานกับผม ผมชอบให้เขาเตลิดไปให้ไกลก่อน ให้โดนไฟดูดเลย ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์คนหนึ่งน่าจะสัมผัส คือผมไม่เชื่อเรื่องการจับมือสอนครับ คือแต่ละคนมันมีชิ้นส่วนของความสามารถและความคิดมาผิดกัน ผมไม่เชื่อว่าผมจะสอนใครให้มาเหมือนผมได้ เพราะว่าเราไม่มีทางเหมือนกัน คือในอดีตที่ผ่านมา มันไม่มีใครเหมือนเราเลย แล้วจากวันที่เราจะตายไป เราก็ไม่มีทางที่จะเหมือนใครอีก เพราะฉะนั้นมันไม่มีประโยชน์ที่จะให้ใครมาเหมือนผม ฉะนั้นผมก็จะปล่อยให้ใครเขาทำผิดไปเลย ซึ่งตรงนี้มันเป็นโชคชะตาจริง ๆ หลายครั้งน้อง ๆ ผู้ช่วยที่ผมเทรนด์ก็โดนไฟดูดจนท้อแท้ คือเขาไม่สามารถผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้ด้านปลั๊กไฟได้ คือคนที่เรียนรู้ได้คือคนที่รู้ว่ามีปลั๊กไฟ แต่ก็ยังสามารถจะคลานเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้นโดยไม่เอานิ้วไปแหย่ แต่ส่วนใหญ่พื้นที่รอบ ๆ ปลั๊กไฟจะกลายเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับคนนั้นไปเลย แล้วตัวเขาก็จะเหลือพื้นที่น้อยลงจนไม่สามารถทำอะไรได้"

(จิระ มะลิกุล, ผู้กำกับ "มหา'ลัยเหมืองแร่", a day 57, พฤษภาคม 2548

เปิดตัวนักแสดง มหาลัยเหมืองแร่

เขียนโดย Deknang
พฤหัสบดี, 23 กันยายน 2004

...ถูกจับตามองตั้งแต่ประกาศว่าจะนำบทประพันธ์เรื่องดังอย่าง "เหมืองแร่" ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของตน จิระ มะลิกุล ผู้กำกับอารมณ์ดีเพิ่งได้ฤกษ์เปิดตัวนักแสดงนำของเรื่องไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

"ถ้าผมจะทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ผมอยากทำ อยากเห็นและมั่นใจว่าผมทำได้ดีคือเหมืองแร่ ผมมั่นใจว่าทำได้ดีแน่ ๆ เลย ภาพที่อาจินต์เขียนมันชัดเสียจนผมสามารถคิดได้เลยว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร ผมอยากให้วัยรุ่นที่กำลังเรียนหรือกำลังจะจบ ได้ซาบซึ้งในอุดมคติของความเป็นคน แม้คนอย่างอาจินต์จะรีไทร์มาแล้วกว่า ๔๐ ปี แต่ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนรุ่นนี้เข้าใจได้ว่า อุดมคติยังเหมือนเดิม กาลเวลาเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ค่าของคนคือสิ่งที่เรากำลังแสวงหามากกว่าไม่ว่าจะสี่ปีในมหาวิทยาลัย หรือสี่ปีในเหมืองแร่มันก็แทนกันได้ เพราะฉะนั้น มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องทำให้ความรู้สึกอันนี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ให้ได้"

...เหมืองแร่ เป็นงานเขียนสุดคลาสสิค (142 เรื่องสั้น) ที่อาจินต์ถ่ายทอดและสะท้อนมุมมองชีวิตของตนเมื่อครั้งถูกส่งไปทำงานเหมืองแร่เมื่อครั้งยังเยาว์

"กาลเวลาทำให้ชีวิตอยู่ในสภาพซ้อนของแต่ละวินาทีที่คาบเกี่ยวกัน เราอยู่ในซากของผิวหนังและเซลล์ที่กลายเป็นอดีตอยู่ทุกวินาทีจากครั้งนั้นมาสู่ครั้งนี้นาน ๒๔ ปี ทุกอย่างเปลี่ยนไป เหมืองเปลี่ยนไปแร่ร่อยหรอไป อาชีพเปลี่ยนไปชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป สังคมรอบตัวเปลี่ยนไป แต่มีสิ่งที่ยั่งยืนอมตะคือแผ่นดิน"

...ผู้กำกับและทีมงาน ได้คัดเลือกนักแสดงนำหน้าใหม่ทั้งหมดเพื่อความสมจริงตามต้นฉบับ ซึ่งเจ้าของบทประพันธ์ที่มาร่วมงานครั้งนี้ด้วยก็ยืนยันว่า "ใช่" ทุกคน

...เริ่มจากบท อาจินต์ เจ้าของเรื่องที่เป็นหนุ่มวิศวะเมืองกรุงผู้ถูกเนรเทศไปพังงาฟ้าแดง หนังได้หนุ่มนักเรียนนอกนามว่า บี - พิชญะ วัชจิตพันธ์ ที่กำลังศึกษาปีที่สาม คณะวิทยาศาสตร์ Major Biology ที่ University of California Santi Cruz มารับบท

...ส่วนบทนางเอกของเรื่อง ทีมงานเลือก ดลยา หมัดชา สาวสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มารับบท สาวละเอียด น้ำหล่อเลี้ยงหัวใจหนุ่มเหมือง

...Anthony Howard Gould รับบท นายฝรั่ง ฮีโร่แห่งการทำงานผู้ยอมตายคางาน

...สนธยา ชิตมณี หรือ สน เดอะสตาร์ มา รับบท ไอ้ไข่ ลูกมือรังวัดจอมกะล่อนอย่างน่ารัก

...นิรันต์ ซัตตาร์ รับบท พี่จอน นายเรือขุดที่ปากพ่น อังกฤษ–มาเลย์–ใต้ ได้คล่องราวกับพัดลม

...งานนี้ผู้กำกับได้ชี้แจงถึงการเปลี่ยนชื่อเรื่องในครั้งนี้ด้วยว่า "เรื่องของคุณอาจินต์เป็นเรื่องสั้น มีถึง 140 ตอน เป็นชื่อต่างๆ มีเรื่องราวต่างๆ แล้วผมเลือกมาทำในประเด็นที่มองว่าเหมืองแร่เป็นเหมือน มหาวิทยาลัย เพราะถ้าทำเป็นเรื่องเหมืองแร่เลยมันจะดูเหมือนแอบอ้างเกินไป ซึ่งมันควรจะออกมาเป็นเวอร์ชั่นที่ผู้กำกับฯเลือก ซึ่งผมเลือกเรื่องออกมาแล้วมาทำ เหมือนกับว่าใครเลือกมาแล้วจะปรุงให้เป็นรสชาติไหน"

บี-พิชญะ ยก มหา’ลัย เหมืองแร่ เป็นแบบอย่างมหา’ลัยชีวิต

บี-พิชญะ วัชจิตพันธ์ พระเอกน้องใหม่จากภาพยนตร์เรื่อง มหา’ลัย เหมืองแร่ ยกภาพยนตร์ มหา’ลัยเหมืองแร่ วรรณกรรมเรื่องเยี่ยมของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นสุดยอดมหา’ลัย ของชีวิตตัวเอง ที่สอนให้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตในแบบฉบับที่หาไม่ได้ในชีวิตวัยรุ่นทั่วไป

พิชญะ เล่าว่า "หนังมหา’ลัย เหมืองแร่ เป็นเหมือนสถาบันนอกระบบที่สอนให้ผมรู้จักชีวิตมากขึ้น บทอาจินต์ได้เปลี่ยนชีวิตผมจากคนขี้อายกลายเป็นคนกล้าบ้าบิ่น กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน และพี่เก้งเป็นครูสอนบทเรียนแรกให้กับผม ทำให้ผมรู้ว่าทุกที่สามารถเป็นมหา’ลัย ให้กับเราได้ มหา’ลัย เหมืองแร่ คือการเรียนรู้ชีวิตที่เราไม่สามารถหาได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไป ในขณะเดียวกันพี่เก้งก็สอนให้ผมใจเย็น มองโลกในแง่ดี และสิ่งสำคัญที่สุดคือหนังเรื่องนี้ทำให้ผมกล้าที่จะก้าวเข้าหาโอกาส กล้าที่จะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงด้วยการสมัครเข้ามารับการคัดเลือกบทอาจินต์ในเรื่องนี้ครับ"

จากหนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน
สู่หนึ่งในภาพยนตร์ที่คนไทยควรรู้

มหา’ลัย เหมืองแร่ อำนวยการสร้างโดย GMM ไท HUB กำกับและเขียนบทโดย จิระ มะลิกุล ออกแบบงานสร้างโดย เอก เอี่ยมชื่น นำแสดงโดย พิชญะ วัชจิตพันธ์, Anthony Howard Gould, นิรันต์ ซัตตาร์, สนธยา ชิตมณี, ดลยา หมัดชา

 

มหา'ลัย เหมืองแร่ : ยิ้มไว้ เหมืองนี้ไม่มีสิ้นหวัง
เขียนโดย Obelisk
พฤหัสบดี, 19 พฤษภาคม 2005

ความลำบากยากเข็ญอันดับต้น ๆ ของสมองฉัน คือการขุดพูดถึงหนังไทยดี ๆ ซักเรื่องหนึ่ง เพราะโดยปกติและเป็นอาจิณ ฉันมักพร่ำบ่นหนังไปอย่างไร้สาระ ก็หนังมันไม่มีเรื่องดี ๆ ให้พูดถึงนี่นา

"มหา’ลัยเหมืองแร่" เป็นหนังไทยเรื่องหนึ่งที่สร้างความลำบากใจอย่างมากกับฉัน จากครั้งที่ได้สัมผัสงานหนังเรื่องแรกของ "พี่เก้ง จิระ มะลิกุล" อย่าง "15 ค่ำ เดือน 11" ที่บอกเล่าความเชื่อในปาฏิหาริย์ของชาวบ้าน การโกหกสีขาวบนความศรัทธาที่มีต่อความเชื่อตัวเอง และเลือกที่จะเล่าแบบเรียบง่าย แต่ได้มัดใจจนน้ำตาซึม ฉันเชื่อว่า นี่คือผู้กำกับที่จะทำให้เราเซื่อในสิ่งที่เขาเฮ็ดเสมอ ไม่ว่าเขาจะเลือกมองอะไร

ความสำเร็จของหนังและน้ำเสียงปลาบปลื้มจากคนดู ทำให้เราเห็นภาพพี่เก้งอิ่มเอม ยิ้มอิ่มบุญอยู่เสมอ แล้ววันหนึ่งความเป็นนายจิระ มะลิกุล ก็ทำให้พี่เก้งเลือกเฮ็ด "มหา’ลัยเหมืองแร่" จากเรื่องสั้น 142 ตอน อันว่าด้วยชีวประวัติ และจากปลายปากกาคน ๆ เดียวกันกับศิลปินแห่งชาติชั้นปรมาจารย์ของสยามประเทศ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" เรื่องสั้นที่จารึกไว้ในวงการวรรณกรรมไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497-พ.ศ. 2526

"เหมืองแร่โชว์"

หนังพูดถึงการ Coming Of Age การค้นพบ การได้เรียนรู้บางสิ่งของ "บทเรียนจากเหมืองแร่" ด้วย "ภาษาศิลป์" จาก "คำสารภาพของนักเขียนเหมืองแร่" มี นายอาจินต์ (พิชญะ วัชจิตพันธ์) ให้เสียงบรรยายประกอบ เมื่อเลือกที่จะ "หนีหรือสู้" ในช่วงปี พ.ศ.2492-พ.ศ.2496 จากนิสิตวิศวะจุฬาฯ พกพาใบแสดงสถานภาพวุฒิการศึกษารีไทร์ "ไปด้วยกัน" ระเห็จตัวเองในสภาพที่ "สีชมพูยังไม่จาง" แต่จำลาจากกรุงเทพฯ ไปสมัครงานที่ "เบ้าหลอมแห่งใหม่" เหมือง กระโสมทิน เทรดยิ่ง จังหวัดพังงา ด้วย "มือที่เปิดประตูเหมือง" ในวัย 22 ปี เมื่อสิ้น "สุดสายฝน" ของ "ฝนเหมืองแร่" บรรดาเสมียนออฟฟิศ พลพรรคคนงาน กุลี ช่าง โฟร์แมนทั้งหลาย ก็ยืนเรียงรายออกมาทักทายต้อนรับน้องใหม่เฟรชชี่ปีหนึ่ง "คนละที" ที่นี่มีนายฝรั่งใจดีเป็นชาวซิดนีย์ ที่ทำเอาเขาซาบซึ้งกับ "น้ำใจนายงาน" ต่างชาติคนนี้

อาจินต์บอกกับทุกคนว่า จะเก็บเงินเพื่อกลับไปแต่งงานกับหญิงสาวคนรักที่พาความทรงจำติดกระเป๋ามาด้วย ทุกคืนเขามี "บ้านแสนสุข" ที่พักที่ใช้หลับนอน และซุกร่างกาย "สุราบัณฑิต" ยามเมามาย เป็นบ้านไม้ที่ห่อกายคลุมโปงด้วยความเงียบสงัดของป่า ชีวิตของอาจินต์ที่เหมืองแร่จึงอาบไปด้วยไอแดดร้อนระอุระห่ำ เปียกปอนตากห่าฝนที่ตกหนักขนาดภูเขาละลาย ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น มอมแมมด้วยหยาดเหงื่อที่ตรากตรำทำงานในเรือขุดลำใหญ่ที่รู้จักมักคุ้นใน "ค่าของดิน" เพื่อควานหา "ทรัพย์ในดิน" ราวกับเล่น "สงกรานต์เหงื่อ" และหลังเลิกงานมักมีงาน "คืนสู่เหย้า" คืนสู่วงเหล้า

ทุกค่ำคืนสังสรรค์ร่ำสุราพาเพลินเพื่อขับไล่ความเหงา ความคิดถึงคนไกลออกจากกาย และเสือกไสกระแสธารไทยนิยมเข้าสู่ลำคอ ในร้านกาแฟที่อุปโลกน์ว่า เป็นดั่งคลับสโมสรของโกต๋อง เจ้าของร้านวิญญาณนักเศรษฐศาสตร์ มีเพื่อนในแวดวงโต๊ะอนุสรณ์สถาน "อนุสาวรีย์แห่งความปากบอน" ทั้งไอ้ไข่ลูกน้องแสนรักแสนชัง ที่มักสำแดง "ทีเด็ดของไอ้ไข่" เป็นกิจวัตร, ตาหมาผู้ซึ่งไม้เบื่อไม้เมา "คู่สร้าง" คู่สมกับไอ้ไข่, พี่จอนนายหัว "ลูกพี่ของข้าพเจ้า" ผู้หัวใจ "นักเลง" สอนให้รู้ว่า "ในเหมืองแร่มีนักเลง" รวมทั้งมากหน้าหลายตาของพวกคนงานหมุนเวียนกันมาสร้างสีสันเรื่องแปลกเรื่องสนุก เรื่องราวของ "ฝูงชนที่กำเนิดคล้ายคลึงกัน" ให้อาจินต์ได้คงเก็บมันไว้เป็น "ความหลังที่หวงแหน"

เมื่อ "เข็มทิศเปลี่ยนทาง" ด้วยอายุ 26 ปี อาจินต์จึงต้องกล่าวคำอำลา "สวัสดีเหมืองแร่" แล้วเดินบน "ตีนที่รู้จักเดิน" หันหน้าออกจากที่นี่หลัง "เหมืองล่ม" เดินทางกลับสู่การใช้ชีวิตเยี่ยงคนกรุงเทพฯ ก้าวย่างแรกที่เขามาเหยียบเหมืองมาแบบไม่มีอะไรติดตัว และ 4 ปี เขาจึงกลับออกไปแบบไม่มีสมบัติติดตัวอะไรเช่นกัน

แต่ 1 ปี หลังจากนั้น เรื่องสั้น "มหา'ลัยเหมืองแร่" จึงถือกำเนิดขึ้นบน "อดีตของคนอื่น" และอดีตที่กลายเป็นอนาคตไม่รู้วาย

หนังไม่ใช่ดราม่า เคล้าชีวิตอันสมบุกสมบัน แต่เป็นคลุก "ปรัชญาหน้าควันไฟ" ผสม "เลือดกับเหล้า" เคล้า "เหล้ากับยา" ผสาน "น้ำกับน้ำใจ" บน "จังหวะชีวิต" ของบรรดาผู้คนต่างถิ่น ต่างภาษาเหล่านี้ รวมไว้แบบไม่ขม

หนังของพี่เก้ง จึงเป็นหนังที่แม้อยู่ในถิ่นกันดาร บนการต่อสู้ของร่างกายทนอึดทายาดแค่ไหน มันยังมีความสนุกสนานของผู้ "คนกับสิ่งของ" จากเสียงหัวเราะเล็ดลอดออกมาของแต่ละชีวิตที่แตกต่าง ที่เรียกว่ามนุษย์ และมองเห็นความเป็นคนเชื่อมั่นในด้านดีของโลกอยู่เสมอ

ถ้า "สวรรค์เข้าข้างคนทำงาน" ด้วยความเชื่อและ "กาลเวลาพิสูจน์คน" จริงล่ะก็ คนดู คนอ่านคงเป็น "ผู้ตัดสิน" ให้ประจักษ์ได้ว่า "ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง" บนแผ่นฟิล์ม ต่างล้วนทำให้ "ทุกคนค้นขุมทรัพย์" ใน "มหา'ลัยเหมืองแร่" เจอ

มหา'ลัยเหมืองแร่ : โรงเรียนลูกผู้ชาย  

เขียนโดย เจ้าชายน้อย 
 

พุธ, 08 มิถุนายน 2005


บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือ "เหมืองแร่" แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการพิจารณาหนังในฐานะของหนังล้วน ๆ ครับนายอาจินต์ ถูกรีไทร์ออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตอนเรียนอยู่ปี 2เขาจำต้องทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าลงใต้ไปยังเหมือนแร่ดีบุกกลางป่าเขา ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

ที่นั่น เขาได้พบผู้คนมากมาย เรื่องราวดีร้าย ความทุกข์ ความสุข การงานอันยากลำบาก ความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวและมิตรภาพดีงาม ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงบางสิ่งภายในตัวเขาไปตลอดชีวิต

ภาพยนตร์ "มหา'ลัยเหมืองแร่" ดัดแปลงจากเรื่องสั้นอมตะของ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ซึ่งตัวหนังสือนั้นถูกเคี่ยวจนเข้มข้นจากประสบการณ์ของผู้ประพันธ์โดยตรง

ว่ากันว่าตัวหนังสือนั้นเล่าเรื่อง เป็นตอน ๆ และกระทั่งตัวผู้ประพันธ์ยังออกตัวว่าเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านมากกว่าถูกสร้างมาเป็นภาพยนตร์

อย่างไรก็ดี ภายใต้ฝีมือของ "จิระ มะลิกุล" ผู้กำกับที่เคยทำให้ "15 ค่ำเดือน 11" กลายเป็นหนังไทยในใจของใครหลาย ๆ คน ก็ได้หาญกล้าหยิบเอาหนังสือเรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จนสำเร็จลงได้

หนังเต็มไปด้วยเสียงวอยซ์โอเวอร์เล่าเรื่อง ที่อาจทำให้หลายคนรำคาญ ในความเป็น -หนังที่สร้างจากหนังสือ- จนเต็มที่

หากแต่เสียงเล่าเรื่องนั้น กลับทำหน้าที่ทั้งในการชักนำคนดู และกันคนดูออกจากการมีส่วนร่วมกับนายอาจินต์ไปในตัว ในการดูหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนายอาจินต์ หากเราทำหน้าที่เป็น คนอีกคน ที่ได้หลุดไปอยู่ในเหมืองแร่ด้วย

และด้วยการณ์นี้เอง หนังจึงอาจอ่อนด้อยในแง่ของความซาบซึ้ง หากอุดมไปด้วยความรู้สึกกึ่งถวิลหา โมงยามอันยากลำบากแต่มีความสุข อันเป็นความรู้สึกเดียวกับการเรียนมหาวิทยาลัยใน 4 ปีนั้น ในฐานะของผู้เรียน มันอาจเต็มไปด้วยประสบการณ์เลวร้าย สถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย หรือเรื่องราวที่เราอยากลืมไปให้พ้น ๆ

หากแต่ในทางกลับกัน เมื่อเรามองย้อนกลับไป เวลาได้เยียวยาบาดแผลให้กลายเป็นเป็นเพียงรอยประสบการณ์ชำระล้างความทุกข์เศร้าให้กลายเป็นการเติบโต และทำให้เรื่องราวเลวร้ายกลายเป็นความขบขัน เวลาจะเลือนขมขื่นของทุกสิ่งจนมีรสหวาน และรสหวานแบบนั้น คือสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในเหนังเรื่องนี้

ตัวหนังนั้นเล่าเรื่องโดยแบ่งออกเป็นช่วงเวลา 4 ปีของนายอาจินต์ในเหมืองแร่ ตั้งแต่เดินทางมา (อย่างยากลำบาก) เรียนรู้การใช้ชีวิตกลางป่าเขากับบรรดาผู้คนที่ไม่ได้เป็นสุภาพบุรุษที่เขารู้จัก หากแต่เป็นชายชาวบ้าน ผู้ทำงานอย่างหนักในถิ่นทุรกันดาร

จนกระทั่งเขาค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนเหล่านั้น ของสถานที่แห่งนั้น ตามตัวเรื่องสามารถเล่าออกมาเป็นหนังขายความประทับใจซึ้ง ๆ เกี่ยวกับมิตรภาพลูกผู้ชาย หรือหนังตลกขบขันว่าด้วยพฤติกรรมแปลก ๆ ของผู้คนในเหมือง

แต่หนังกลับเลือกที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้ว เพื่อมุ่งเน้นนำเสนอภาพของ ความเป็น -ลูกผู้ชาย- แบบที่อาจไม่ได้มีให้เห็นได้ง่ายดายนักในสังคมปัจจุบัน

"กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว"

พี่จอนบอกกับอาจินต์ในครั้งหนึ่ง ถ้อยคำง่าย ๆ ที่บ่งบอกเนื้อแท้ของความเป็นลูกผู้ชายในโลกของเหมืองแร่ โลกที่ไม่ได้วัดความเป็นลูกผู้ชายที่ความหรูหราของวัตถุ หรือความสามารถในการจีบผู้หญิง หรือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่วัดกันด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี

ลูกผู้ชายในเหมืองแร่ ไม่ได้เป็นผู้คนที่ยิ่งใหญ่หรือเปลี่ยนแปลงโลก คนอย่าง พี่จอน พี่เลิศ พี่ก้อง กระทั่งไอ้ไข่ หรืออาจินต์ เป็นเพียง -กรรมกร- ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้คาดหวังพลิกฟ้าเปลี่ยนแผ่นดิน พวกเขาทำงานเพื่อแลกกับเงินจำนวนไม่มากนักสำหรับพอประทังชีวิต

แต่สิ่งที่สำคัญกับพวกเขาเหล่านั้นที่สุดมีเพียงสองอย่าง คือ เกียรติ และ มิตรภาพ นั่นคือสาเหตุที่พี่จอนยอมไปจากเหมืองแร่ และสาเหตุที่มีวงเหล้ากันทุกค่ำคืน

ภาวะลูกผู้ชายสุดแสนโรแมนติก ดิบเถื่อน และห้าวหาญในโลกของเหมืองแร่นั้น ในโลกจริงอาจเป็นเพียงเรื่องของคนโง่งม และไม่ยืดหยุ่น พวกเขาอาจเป็นได้เพียงแรงงานราคาถูก แต่ก็เป็นเช่นที่อาจินต์บอก "ผมทำงานเพื่อรายงานตัวเองว่า ไม่ได้เป็นกาฝากของที่นี่"

บางทีมันไม่สำคัญที่ผลสัมฤทธิ์ของงาน มันสำคัญที่วิธีการในการทำงานต่างหาก

นอกจากโปรดักชั่นที่ทำได้อย่างแนบเนียนแล้ว หนังยังได้การแสดงอย่างสนุกสนาน (และบางคนอย่างนายสนธยา หรือโกต๋อง อยู่ในขั้นน่าชื่นชมเลยทีเดียว) ของบรรดาตัวประกอบในเหมืองแร่ ที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดี

โดยรวมแล้ว "มหา'ลัยเหมืองแร่" อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ ซาบซึ้ง ไม่แม้แต่กระทั่งจะเป็นภาพยนตร์ตลกขบขัน แต่หนังก็เป็นเช่นเดียวกับผู้คนในเเหมืองแร่

สิ่งที่หนังเป็นคือการพูดถึง เกียรติ มิตรภาพ ศักดิ์ศรี ที่นับวันจะยิ่งเหือดแล้งแห้งหายไปในวิถีแห่งการแก่งแย่งแข่งขัน กับบางคน ชีวิตของอาจินต์ หลังกลับจากเหมืองแร่ อาจเป็นสี่ปีอันล้มเหลวสูญสิ้น

แต่ในที่สุด กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า สี่ปีนั้นมีคุณค่ามากมายเพียงใด

f o o t n o t e

...บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยความอคติอยู่ในระดับหนึ่งทีเดียว สาเหตุหลักคือว่า พ่อของผมเป็นคนงานเหมือง (แต่เป็นเหมืองขุดแร่ในทะเล) สิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง หลายอย่างผมเองก็เคยพบเห็นมาในครั้งยังเด็ก ดังนั้นจึงช่วยไม่ได้ที่ผมจะอินกับมันเป็นพิเศษ เพราะนี่เป็นหนังที่ทำให้ผมคิดถึงพ่ออย่างรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งครับ

 

 

 

 

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น