Home » » ความสุขของกะทิ

ความสุขของกะทิ

ความสุขของกะทิ

เนื้อเรื่องย่อ: “กะทิ” เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อแม่มาจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้ายที่ไม่อาจรักษา ความสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ความสมหวังและความสูญเสียที่เธอต้องเผชิญนั้นมากเกินกว่าเด็กวัยเดียวกันจะรับไหว แต่ความเชื่อมั่นและกำลังใจจากผู้ที่เธอรักและรักเธอ ได้เข้ามาสร้างสีสันและเติมเต็มให้หนูน้อยรู้สึกว่าเธอไม่ได้ขาดอะไร และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้เฉกเช่นเด็กๆ ในวัยเดียวกัน และทำให้เธอเติบโตขึ้นจากความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

นักแสดง:

ภัสสร คงมีสุข…. กะทิ 
สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ 
จารุวรรณ ปัญโญภาส 
รัชนก แสง-ชูโต 
เข็มอัปสร สิริสุขะ 
กฤษดา สุโกศล 
ไมเคิล เชาวนาศัย 
นิธิศ โค้วสกุล 

ความยาว: 108 นาที

โชคดีเหลือเกินที่ชีวิตของเด็กหญิงวัย 9 ขวบคนหนึ่ง ซึ่งแม้พ่อและแม่ของเธอไม่อาจเลี้ยงดูเธอได้ แต่เธอก็ยังมีอีกหลากหลายชีวิตที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ คอยรายล้อมเป็นป้อมปราการอันแข็งแกร่งให้ชีวิตของเด็กน้อยเติบโตต่อไปในทางที่ดี…อย่างที่มันควรจะเป็น

เด็กหญิงคนนี้มีชื่อว่า “เด็กหญิงกะทิ” ที่นักอ่านชาวไทยทั้งหนอนและดักแด้มีความคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วผ่านวรรณกรรมซีไรต์เล่มเล็ก ๆ ที่เบ่งหัวใจให้พองโตเรื่อง “ความสุขของกะทิ”

ตา, ยาย, แม่, น้าฎา, น้ากันต์, ลุงตอง, พี่ทอง ณ บ้านริมคลอง – หลากหลายชีวิตที่เป็นเสมือนกำแพงอันแข็งแรงไว้ปกป้องและสะพานอันมั่นคงให้ก้าวข้ามผ่านพบในชีวิตของหนูน้อยกะทิ

นับแต่วันประกาศสร้างฝันปั้นตัวละครสู่ภาพยนตร์ เมื่อต้นปี 51 หลายคนก็ตั้งตารอคอยกันอย่างใจจดจ่อ อย่างที่ทราบกัน หนังปิดกล้องไปได้พักใหญ่ ๆ แล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-Production) เพื่อให้ทันกับกำหนดการฉายปลายปี 25 ธันวาคมนี้ เหมาะเจาะกับวาระแห่งความสุขของ (เกือบ) ทุกชีวิตนั่นเอง

…ก่อนที่ “ความสุขของกะทิ” จะแผ่ซ่านความสุขซึ้งผ่านจอภาพยนตร์ตรึงทุกหัวใจทุกผู้ชมนั้น แพรวสำนักพิมพ์ก็ได้เข็นหนังสือน่าอ่านที่ชื่อ “บันทึกสู่แผ่นฟิล์ม…ความสุขของกะทิ” : จากวรรณกรรมสู่ความเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์ โดยผู้เขียนคนเดียวกันอย่าง “คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ” (ผู้ประพันธ์, ผู้เขียนบท) ออกมาเรียกน้ำย่อยกระตุ้นความอยากชมกันอย่างหนักหน่วงทีเดียว

…หนังสือเพิ่งวางแผงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (และน่าจะเป็นไฮไลต์เล่มหนึ่งใน “งานอมรินทร์บุ๊คแฟร์” ที่กำลังจัดอยู่ในขณะนี้) เปิดผ่านอ่านได้เพียงไม่กี่บท ก็อดใจไม่ไหวที่จะโดดมาแนะนำกันก่อน เพื่อให้ชาวเว็บได้ไปแวะแผงจับจ่ายเงินทองและท่องเวลาไปอย่างช้า ๆ กับ “หนังสืออ่านง่าย-เต็มอารมณ์เล่มเล็ก ๆ” ที่จะทำให้ “หัวใจเบ่งบาน-รอยยิ้มเปิดกว้าง” เฉกเช่นเดียวกับหนังสือต้นฉบับ…อย่างแน่นอน

“อาการกลั้นน้ำตาและสุดท้ายปล่อยน้ำตาให้ไหลพรากได้ในที่สุด ทำให้ใครได้ชมเทปรู้ว่า พบนักแสดงมีฝีมือแล้ว ผู้กำกับลงไปคลุกคลีด้วยก็ให้ความเห็นว่าน้องพลอยสมาธิดี จำบทได้เร็ว และเป็นธรรมชาติมาก

หน้าตาของน้องพลอยน่าเอ็นดู สวยหวาน ผมยาวกลางหลัง คำถามสุดท้ายก่อนตกลงกันคือ ยอมตัดผมไหม เพราะเด็กหญิงกะทิไว้ผมทรงนักเรียน คุณแม่ไม่ตอบคำถาม แต่ให้น้องพลอยตอบเอง

เมื่อมีคนส่งข่าวมาว่า น้องพลอยยอมตัดผมและจะพามาให้ดูตัวในทรงผมใหม่ ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก และนาทีที่เห็นน้องพลอยกับผมม้าสั้นเต่อเดินเข้าประตูมาก็บอกได้ทันทีว่า คนนี้แหละ เด็กหญิงกะทิในจินตนาการ และยังเชื่อด้วยว่า เธอจะตรงตามจินตนาการของใครต่อใครได้ไม่ยาก”

“ลงเอยก็ได้น้องไอซ์มารับพี่ทองสมใจ ผู้ชมจะได้เห็นน้องไอซ์พายเรือพาหลวงลุงมารับบาตรด้วยท่าทางทะมัดทะแมง น้องไอซ์พายเรือเป็นอยู่แล้วและเป็ฯนักกีฬาว่ายน้ำด้วย บทแบบนี้จึงเข้าทางมาก เวลาน้องไอซ์ไม่ยิ้ม หน้าตาจะดูธรรมดา แต่ทุกครั้งที่ยิ้ม ประกายตาจะวิบวับทันที เมื่อภาพของน้องไอซ์ปรากฏในข่าวหลังวันบวงสรวง มีสาว ๆ หลายคนเขียนในเว็บว่า คนนี้ขอจองตัวไว้ก่อนเลย แสดงว่าหล่อเข้าขั้น

เชื่อว่าถ้าได้เห็นน้องไอซ์ในบทพี่ทองกับย่ามสีฟ้าคู่ใจ ก็จะนึกรักและเชื่อสนิทใจว่า คนนี้แหละคือพี่ทองแสนดีของน้องกะทิ”

…แค่โปรยหลังปกถึง 2 ตัวละครเอกของเรื่อง ก็เรียกน้ำย่อยให้ไหลเร็วผิดปกติ แทบจะเปิดอ่านรวดเดียวจบได้เลย แต่เมื่อไม่อยากให้ “ความประทับใจ” มลายหายไปเร็วเกินควร ว่าแล้วก็ค่อย ๆ เปิดอ่านช้า ๆ ซึมซับไปทีละหน้า จากช็อตเริ่มต้น ผ่านฉากทีละฉาก ล่วงสู่… น่าจะเป็นการดีกว่า

“แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา”

…คือประโยคแรกที่อยู่ ๆ ก็วาบขึ้นมาในความคิดของผู้เขียน และส่งผ่านคำต่อคำ บทต่อบท ภาพต่อภาพ จนเต็มเปี่ยมไปด้วย “ความสุขของกะทิ”

“แม่สัญญาว่าจะดูแลหนูให้ดี”

…คือประโยคที่เราหวังจะได้ยินจากปากของแม่นักดมกาวในชีวิตจริง ให้มีสติสำนึกถึง “ความเป็นแม่ที่ดี” ได้ซักวาบหนึ่ง…ก็น่าจะดี เพื่อที่จะไม่ให้คำที่โพล่งออกมาจากปากของเด็กน้อยผู้พี่แสนไร้เดียงสาที่ว่า “หนูเกลียดแม่” กลายเป็นตราบาปติดตัวเด็กน้อย…ไปชั่วชีวิต

ชีวิตในโลกความเป็นจริงมันก็ไม่ต่างแตกแปลกแยกไปจากชีวิตในโลกภาพยนตร์ซักเท่าไหร่หรอก ในเมื่อมันก็คือการจำลองชีวิตที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

ขูดมะพร้าว-คั้นกะทิ

“ความสุขของกะทิ” เขียนโดย “คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ” ซึ่งมีงานเขียนและแปลรวมกว่า 20 เรื่อง รวมถึงเรื่อง “แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 4 ตอน ถ้วยอัคนี” ด้วย

– คุณงามพรรณได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chavalier de l’Odre des Arts et des Lettres) เมื่อ 25 ก.พ. 2542 เช่นเดียวกับที่ “พี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” เพิ่งได้รับไปในปีนี้

– ได้รับการแปลไปแล้ว 7 ภาษา ใน 8 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สเปน-คาโตโลเนีย, เกาหลี และ ลาว)

– ตามอ้างอิงจากปากผู้กำกับ ประเทศลาวใช้ชื่อหนังสือว่า “ความสุขของมะพร้าวขูด”

–  ได้รับรางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2549

– หนังสือ “บันทึกสู่แผ่นฟิล์ม…ความสุขของกะทิ” เล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551 และวางขายแล้วในราคาเล่มละ 130 บาท เขียนโดย “คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ” และภาพถ่ายโดย “คุณธวัชชัย พัฒนาภรณ์”

Share this article :

แสดงความคิดเห็น