Home » » ดรีมทีม ฮีโร่ฟันน้ำนม

ดรีมทีม ฮีโร่ฟันน้ำนม



ดรีมทีม ฮีโร่ฟันน้ำนม

จัดจำหน่ายโดย อาวอง
วันที่เข้าฉาย 3 เมษายน 2551
ผู้กำกับ กิตติกร เลียวศิริกุล

ซีเกมส์ ไม่เกี่ยว…โอลิมปิกไม่สน
เกมส์เดียวเท่านั้น ที่ขอเดิมพัน “กีฬาอนุบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 18”
เมื่อความมุ่งมั่น มาพร้อมกับแสบซน
“ดรีมทีม” ชื่อทีมฟอร์มดี ฟังฮึกเหิมชวนให้มีความหวัง
โค้ช ครู พ่อแม่ กองเชียร์จึงคาดหวังกันซะเต็มเหนี่ยว ซัดแรงเชียร์กันเต็มสตรีม
แต่… “ดรีมทีม” อายุ 5 ขวบ!!! เนี้ยนะ?
ใคร(ฟะ) บอก กีฬามีแพ้ มีชนะ
“ดรีมทีม” 3 เมษายน นี้ ได้ลุ้นแน่ฟันธง!

เรื่องย่อ

ดรีมทีม ภาพยนตร์แนวแฟมิลี่ คอมเมอดี้ เรื่องราวของ โค้ชเบิร์ด กับ ครูหนูเล็ก ที่มาปะทะคารมกัน แถมต้องมาปวดหัวกับเหล่าเด็กแสบระดับอนุบาล 3 จำนวน 10 คน ในทีมชักเย่อ ดรีมทีม ที่ฝึกซ้อมแข่งขันกีฬาอนุบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 18 แต่แล้วเส้นบาง ๆ คั่นระหว่าง ฮีโร่ กับ ตัวสำรอง เกิดขึ้น เพราะกติกาแข่งขันกำหนดนักกีฬาไว้เพียง 9 คน หมายถึง 1 ใน 10 ของ ดรีมทีม ต้องนั่งเก้าอี้สำรอง ! ร่วมลุ้นไปกับสุดยอดเกมส์กีฬาครั้งแรกในชีวิตเด็ก 5 ขวบ 10 คน “ดรีมทีม” แก๊งส์นักกีฬาเด็กอนุบาลแสบซน ที่ทั้งโค้ช ครู พ่อแม่ กองเชียร์ฝากความหวังกันซะเต็มเหนี่ยว เชียร์กันเต็มสตรีม

เป็นโค้ชทีมฟุตบอล กีฬาสุดเท่ห์อยู่แท้ ๆ “โค้ชเบิร์ด” (กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ) กลับถูก “ครูหนูเล็ก” (โฟร์-ศกลรัตน์ วรอุไร) ชักชวน แกม (แม่) บังคับ ให้ช่วยมาเป็นโค้ชชักเย่อเด็กอนุบาล ลงแข่ง “กีฬาอนุบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 18”

“หัวแก้ว” (ด.ช. กฤษฎา ชนะภัยเจริญสุข – คาร์บิว) รวมเพื่อน ๆ ตั้งทีม “ดรีมทีม” เพื่อแข่งชักเย่อ คุณพ่อของหัวแก้ว (อ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน) คุณพ่อรุ่นใหม่ งานต้องทำ แต่อยากให้ลูกชายแข็งแรงจึงผลักดันให้เล่นกีฬาเต็มที่

“เป๊ะ” (ด.ช. ธนทัต ขวัญไสวธรรม – น้องเป๊ะ) กับคุณแม่ยุคใหม่ (เมย์ ภัทรวรินทร์) ทำงานเลี้ยงลูกลำพัง แม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับเป๊ะมากนักความหวังของเป๊ะคืออยากให้แม่มาดูตัวเองแข่งชักเย่อ

“เซน 1” (ด.ช. สรรภวัต สุระเกรียงศักดิ์ – น้องเซน) ร่างตุ้ยนุ้ย หน้าตาน่าหยิก มีหม่าม้า (จิ๊ก-เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) ผลักดันสุดฤทธิ์ ให้เซน 1 เป็นหัวหน้าทีม จ้ำม่ำแรงดีแบบนี้ ทำไม๊ ทำไมไม่ได้เป็นหัวหน้าทีม

“เซน2” (ด.ช. ธนกร เมธาวุฒิกีรติ – น้องเซนต์) คุณพ่อเป็นด็อกเตอร์ความรู้เยอะ (คมสัน นันทจิต) นักวิทยาศาสตร์ไอคิวสูง พกเอาความเป็นเลิศทุกด้านมาให้ เซน 2 ไม่เว้นแม้กระทั่งแข่งชักเย่อก็ห้ามแพ้

“ภูมิ” (ด.ช. ภูริ สรีระศาสตร์ – น้องภูมิ) รูปร่างผอมบาง หน้าตาดูขี้โรค ลูกของคู่ผัว-เมียพูดมาก (ศรีพรรณ บุนนาค / ธรธร สิริพันธ์วราภรณ์) ภูมิ เป็นเด็ก หัวอ่อน ว่าง่าย ใครบอกให้เป็นอะไรก็เป็น แม่บอกเป็นอีสุกอีใส ภูมิก็เป็น แต่พอเพื่อนบอกเป็นเอดส์ภูมิก็ว่าภูมิเป็น !!!

“อะตอม” (ด.ช. ธนพล บุญเจริญสุข – น้องตี่ตี๋) หล่อใสหัวหยิก เรี่ยวแรงดี แต่ตื่นเต้นเป็นไม่ได้ ขี้แตกทุกที คุณพ่อของอะตอม (เอกราช เก่งทุกทาง) ต้องเตรียมกางเกงไว้ให้เปลี่ยนเสมอ เสียอย่างเดียว มักเป็นกางเกงสีแดงสะดุดตาตัวเก่ง

แก๊ง “ดรีมทีม” กองหลังร่วมด้วยหัวหน้าทีม “ริชชี่” (ด.ช. ศุภโชติ รัชวรพงศ์ – น้องริชชี่), “เจ็ส” (ด.ช. เจษฎาพร บุญสอน – น้องเจ็ส), “จุ้ย” (ด.ช. พชธกร ธนพัฒนากุล – น้องจุ้ย) และ “สตางค์” (ด.ช.อัจฉริยะ อุปการดี –น้องสตางค์)

แต่แล้วเส้นบาง ๆ คั่นระหว่าง ฮีโร่ กับ ตัวสำรอง เกิดขึ้น เพราะกติกาแข่งขันกำหนดนักกีฬาไว้เพียง 9 คน หมายถึง 1 ใน 10 ของ ดรีมทีม ต้องนั่งเก้าอี้สำรอง ! พ่อแม่ของเด็ก ๆ ต่างก็ลุ้นสุดโก่ง “โค้ชเบิร์ด” จะตัดสินใจอย่างไร??

“ครูหนูเล็ก” จะตอบคำถามเหล่าผู้ปกครองอย่างไร?

ทั้งโค้ช ครู พ่อแม่ กองเชียร์ฝากคาดหวังกันซะเต็มเหนี่ยว เชียร์กันเต็มสตรีม ไว้กับ 2แขนเล็กๆ ของ “ดรีมทีม” อายุ 5ขวบเนี้ยนะ!

ใคร (ฟะ)ว่ากีฬามีแพ้มีชนะ…

นักแสดงดรีมทีม

เกียรติ กิจเจริญ
ศกลรัตน์ วรอุไร
อัมรินทร์ นิติพน
เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
คมสัน นันทจิต
ภัทรวรินทร์ ทิมกุล
ศรีพรรณ บุนนาค
ธรธร สิริพันธ์วราภรณ์
เอกราช เก่งทุกทาง
คริส ไรธ์ (คริส ดิลิเวอรี่)
จิรายุ ห่วงทรัพย์
ธวัชชัย สัจจกุล
ดร. เสรี วงษ์มณฑา
ด.ช. กฤษฎา ชนะภัยเจริญสุข (คาร์บิว)
ด.ช. ธนทัต ขวัญไสวธรรม (น้องเป๊ะ)
ด.ช. สรรภวัต สุระเกรียงศักดิ์ (น้องเซน)
ด.ช.ธนกร เมธาวุฒิกีรติ (น้องเซนต์)
ด.ช. ภูริ สรีระศาสตร์ (น้องภูมิ)
ด.ช. ธนพล บุญเจริญสุข (น้องตี่ตี๋)
ด.ช. พชธกร ธนพัฒนากุล (น้องจุ้ย)
ด.ช. ศุภโชติ รัชวรพงศ์ (น้องริชชี่)
ด.ช. เจษฎาพร บุญสอน (น้องเจ็ส)
ด.ช. อัจฉริยะ อุปการดี (น้องสตางค์)

Cast

คาแร็คเตอร์

โค้ชเบิร์ด รับบทโดย เกียรติ กิจเจริญ (กิ๊ก)

อนุบาลเรียนที่ :อนุบาลสมถวิลพระโขนง

“โค้ชเบิร์ด” มีอาชีพเป็นโค้ชฟุตบอล เป็นโค้ชฟุตบอลกีฬาสุดฮิปอยู่แท้ ๆ จู่วันหนึ่งก็ถูกชวน แกม (แม่) บังคับให้มาอยู่ในตำแหน่ง โค้ชชักเย่อเด็กอนุบาล ที่ใคร ๆ ก็มาฝากความหวัง และความกดดันให้ชีวิตที่เคยสงบสุขของโค้ชเบิร์ดก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะความแสบแสนซนของเหล่าบรรดาเด็กๆและผู้ปกครอง

กิ๊ก – เกียรติ กิจเจริญ ให้คำจำกัดความหนังเรื่อง “ดรีมทีม” ได้อย่างน่าสนใจว่า “เป็นหนังเด็กอย่างเดียวมันก็ไม่เชิงนะ มันเกี่ยวกับความใฝ่ฝันของเด็ก ความต้องการของเด็กที่จะแข่งขัน สุดท้ายกลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ความคิดมันเริ่มต้นจากเด็ก สุดท้ายหนังก็บอกว่า เด็กเขาก็ทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่แฮปปี้ บางทีคนที่กดดันน่าจะเป็นพ่อแม่มากกว่า เด็กกับผู้ใหญ่แยกกันไม่ออกหรอก มันเป็นครอบครัว เป็นความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ออก สุดท้ายก็เป็นหนังครอบครัว คือดูกันทั้งครอบครัว ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอาลุง พ่อแม่ดูก็ได้คิดอย่างหนึ่ง เด็กดูก็เฮฮาไป วัยรุ่นดูก็เห็นความกวนของนักแสดงเด็ก เวลาเด็ก ๆ แข่งขันกีฬา เขาแค่อยากอยู่ในทีม เรื่องอยากชนะ คงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของเด็ก แต่พ่อแม่หลาย ๆ คนก็หลาย ๆ แบบ”

“สิ่งที่พี่สนใจแรกเริ่มในหนังเรื่องนี้ คือ การเล่นกับเด็ก ๆ พี่ก็อยากรู้ว่า จะเล่นยังไงกับเด็ก 10 คน พี่ก็รู้สึกได้ว่า มันคงยากจริง ๆ กำกับฯ เด็กก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งใช้เด็กอนุบาลจริง ๆ แต่มันก็ได้เด็กอีกแบบ ได้ความรู้สึกจริง ๆ ของเขา มีเรื่องสนุกทุกวัน ตั้งแต่วันแรก ปกติพี่ชอบเด็ก แต่เยอะขนาดนี้ไม่ไหว (หัวเราะ) เจอวันแรกมันก็ต่อยไข่แล้ว” กิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ เผยความรู้สึก เมื่อพบ “ดรีมทีม”

…คำถามสุดท้ายพี่กิ๊กชอบเด็กคนไหนมากสุด?

“เอาเกลียดสุดได้มั้ย ??? (หัวเราะ)”

Profile

ชื่อ เกียรติ กิจเจริญ (กิ๊ก) วันเกิด 22กันยายน 2506

การศึกษา : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2524

ประวัติการทำงาน : เป็นที่รู้จักในชื่อ “ซูโม่กิ๊ก” จาก “เพชฌฆาตความเครียด” มีผลงานแสดงภาพยนตร์มากมาย ยุค กลิ่นสีและกาวแป้ง, บุญชู ทุก ๆ ภาค, บ้านผีปอบ และยังได้รับบทพระเอกเต็มตัวในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ผลุบโผล่ และ ฉลุย โครงการ 2 นับรวม ๆ แล้วมีผลงานแสดงภาพยนตร์หลายสิบเรื่อง ได้ร่วมงานกับ เรียว กิตติกร ผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นเรื่องที่สองต่อจาก “เมล์นรกหมวยยกล้อ”

ปัจจุบัน : ก่อตั้งและเป็นผู้บริหาร บริษัท ทริปเปิ้ล ทู จำกัด, พิธีกรรายการ วันวานยังหวานอยู่,คันปาก

ครูหนูเล็ก รับบทโดย ศกลรัตน์วรอุไร (โฟร์)

อนุบาลก็เคยเรียน :โรงเรียนอนุบาลลาซาล

…ครูอนุบาลสาวสวย ประจำชั้น อนุบาล 3 อายุสักประมาณ 23 ปี คล่องแคล่วว่องไว มั่นใจ มุ่งมั่น ตั้งใจ จริงใจ พูดตรง ๆ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่ยอมแพ้อุปสรรค ผจญปัญหาทุกรุ่นไม่ว่าจะรุ่นเล็กยันรุ่นใหญ่

“โฟร์เจอ คาร์บิว คนแรก วันแรกเจอคนเดียว เออ…น่ารักดีนะ ไม่ดื้อ ยิ้มน่ารัก พอเจอ เซน 1 ตัวอ้วน น่ารักดีเนอะ พอเจอ 10 คนพร้อมกันปุ๊บ แล้วไม่ฟังอะไรทั้งนั้น เราก็นั่งดูว่า เด็กแต่ละคนเป็นยังไง เราก็นั่งดูเด็ก แป๊บหนึ่ง หันไปถามพี่ทีมงานแล้วจะเล่นได้หรือเนี้ย (หัวเราะ)

ตอนแรกเราก็แกล้งเด็ก พอตอนหลัง ๆ ทีมงานให้โฟร์วางฟอร์มว่า เป็นครู ให้นิ่ง ๆ อย่าไปเล่นกับเด็กมาก เด็กจะไม่กลัว โฟร์ก็ทำตัวนิ่งๆ แต่ตอนนี้ ท่าทางจะโดนเด็กแกล้ง หลัง ๆ เด็ก ๆ ไม่กลัวแล้ว

ฉากที่อุ้มน้องมาชิ น้องร้องไห้เพราะหลับอยู่แล้วไปปลุกมา ก็เลยร้องไห้ บวกกับไม่ยอมให้โฟร์อุ้ม ใครมาให้อุ้มหมด ยกเว้นโฟร์ แม่บอกเขาเขินผู้หญิงสวย เราก็เลยไม่รู้ว่า เราสวยหรือเด็กเกลียด (ฮ่า) แล้วโฟร์ก็อุ้มเด็กไม่ค่อยเป็น ไม่เคยมีหลาน ไม่ค่อยได้อุ้ม แล้วต้องอุ้มมือเดียวเลยนะ เกร็งแขนมากปวดแขนเลย

เรื่องนี้เป็นหนังที่ไม่ใช่ดูได้เฉพาะแค่เด็กกับพ่อแม่ แต่วัยรุ่นก็ดูได้ เป็นหนังตลกแนวสะอาด ใสๆ สนุกๆ ดูสบายๆ แบบอิ่มๆ โฟร์ว่าน่าดูมากนะ แบบเด็ก 5 ขวบจะเล่นได้เหรอ???”

Profile

ชื่อ ศกลรัตน์ วรอุไร (โฟร์)

วันเกิด 25 ตุลาคม 2529 น้ำหนัก 39-40 กก.ส่วนสูง 165ซม.

พี่น้อง พี่สาว 2คน พี่ชาย1คน

ผลงาน ออกอัลบั้มเพลงในชื่อวงดูโอ้ “โฟร์-มด”

ปัจจุบันเรียนที่ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ปี 2

สัตว์เลี้ยงสุนัขชื่อ Money

“น้องหัวแก้ว” รับบทโดย ด.ช. กฤษฎา ชนะภัยเจริญสุข (น้องคาร์บิว)

…เด็กชายอนุบาล 3 ขี้โรควัย 5 ขวบ รูปร่างผอม ดูอ่อนแอ ประกอบกับตัวเล็ก หน้าตาใสซื่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณพ่อเป็นหนุ่มยุคใหม่ ทำงานเลี้ยงลูกเพียงลำพัง อยากให้ “หัวแก้ว” สุขภาพแข็งแรง และมีสังคมกับเพื่อน จึงหนุนสุดตัวให้หัวแก้วได้เล่นกีฬา

อัมรินทร์ นิติพน (อ่ำ) รับบท “ขวด” พ่อน้องหัวแก้ว

อนุบาลก็เคยเรียน :อนุบาลสารินันทน์ศึกษา

“เป็นพ่อยุคใหม่ ที่ต้องทำงานและดูแลลูกชายเอง แต่ลูกชายก็ไม่ค่อยแข็งแรง เราก็เลยทั้งผลักทั้งดัน สนับสนุนเต็มที่อยากให้ลูกเล่นกีฬา ลูกชายผม หน้าเหมือนอาแปะ ออกจีน ๆ หน่อย ในเรื่องชื่อ หัวแก้ว แต่ตัวจริงชื่อ คาร์บิว เจอกันวันแรกก็แปลกใจ น้องคาร์บิวเป็นเด็ก 5 ขวบที่เก่งนะ เล่นได้ขนาดนี้ รู้จักการพูด ทำตามผู้กำกับฯ ทั้งๆที่เด็กวัยนี้ น่าจะเอาแต่เล่น เด็ก ๆ ดรีมทีมน่ะครับเก่งกันทุกคนเลย”

…หลังจากทำงานกับเด็ก “ดรีมทีม”อ่ำอยากบอกอะไร?

“อยากบอกว่า มีลูกสาวดีกว่าครับ (หัวเราะ) เด็กผู้ชายซนมากครับ”

ด.ช. กฤษฎา ชนะภัยเจริญสุข (น้องคาร์บิว) รับบท หัวแก้ว

วันเกิด 3 พ.ค. 2545 อายุ 5ขวบ

การศึกษา อนุบาล 3 ชื่นชอบ : หุ่นยนต์ / การ์ตูน ความสามารถพิเศษ :ชอบเต้น

อาหารโปรด ข้าวผัด, ไข่เจียว กีฬาโปรดฟุตบอล

…ตี๋เล็ก น้องคนสุดท้องของบ้าน นิสัยขี้น้อยใจ อารมณ์ติสต์นิด ๆ ชอบปลีกวิเวก มีโลกส่วนตัว วาดรูป ระบายสีอยู่เงียบ ๆ ไม้เด็ดอยู่ที่ทำตาเศร้านิ่ง ๆ หงอย ๆ ดูน่าสงสารเป็นที่สุด ยามว่างชอบขี่จักรยาน ฮีโร่สุดโปรด คือเบน 10

…แต่หนูน้อย คาร์บิว ใส่วิญญาณนักแสดงได้เมื่อได้ยินเสียงสั่งแอ็คชั่นของผู้กำกับฯ ปัญหาเดียว คือ อย่าให้คาร์บิวต้องนั่งตำแหน่ง ที่โหล่ สุดท้ายของทีม เพราะคาร์บิวพาลจะไม่ยอมแสดง ทำคอตก ทิ้งตัวนิ่ง ออกอารมณ์เศร้าจริง ๆ จนต้องป่วนไปทั้งกองถ่ายทีมงานต้องหาทางอธิบายให้คาร์บิวเข้าใจ

…คาร์บิว เป็นเด็กอ้อนแม่ ติดแม่มาก พลังการแสดงแต่ละวันขึ้นอยู่กับว่า แม่มากองถ่ายหรือเปล่า?? และพลังการแสดงจะเพิ่มเป็นพิเศษ ถ้าวันนั้น นอกจาก แม่มาแล้วยังมี เหลาอี้อาม่ามาเชียร์ด้วย (555)

“เป๊ะ” รับบทโดย ด.ช. ธนทัต ขวัญไสวธรรม (น้องเป๊ะ)

…เด็กชายอนุบาล 3 วัย 5 ขวบ เป็นตัวของตัวเองสูง ติดทีวี ดูเผิน ๆ เป็นเด็กแสบจอมซน แต่เพราะ เป๊ะอยู่กับคุณแม่ที่ทำงานยุ่ง และต้องดูแลเป๊ะเพียงลำพัง แม่จึงไม่ค่อยมีเวลาให้ จริง ๆ แล้ว ในขณะที่ทุกคนลุ้นผลแพ้ชนะ แต่เป๊ะกลับลุ้นสุดใจว่า แม่จะว่าง มาดูเป๊ะแข่งชักเย่อบ้างมั้ยนะ???

ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (เม) รับบท แม่น้องเป๊ะ

“เป็นคุณแม่ทำงานน่ะค่ะ Working Woman ผู้หญิงทั่วไป ไม่มีสามีมาคอยดูแลแล้วก็เลยต้องตั้งใจทำงานเพื่อลูก

เป๊ะเค้าเป็นเด็กที่แสดงได้เป็นธรรมชาติมาก คือเค้าจะไม่ห่วงกล้อง เป็นธรรมชาติมาก ๆ แล้วเราเล่นกับเค้าจะมีความสุข เค้ามีเกร็งๆ บ้าง ลืมบ้าง แต่ช่วยกันเด็กเค้าเล่นด้วยความรู้สึกและเค้าคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง

มีซีนหนัก ๆ เป๊ะจะกลัวไปเลย เพราะไปดุเค้า ซึ่งเรื่องนี้เราผิดเอง เพราะว่าตอนที่ซ้อมเราไม่ได้เล่นจริง แต่พอ 5 4 3 2 แล้วเล่นจริง เค้าก็ตกใจร้องไห้ไปเลย ลืมคิดไปว่าเค้ายังเป็นเด็ก เราชินกับการเล่นกับผู้ใหญ่ แต่นี่เด็ก แล้วยังไม่เคยเล่นหนังมาก่อนด้วยน้องเค้าก็ตกใจร้องไห้เลย

เมโชคดีที่ทำงานเรื่องนี้เจอกับเป๊ะแค่คนเดียว แต่ถ้าต้องเจอ เป๊ะ 10 คนนี่คงไม่ไหว คือถ้าเจอเด็ก 2 คน คนหนึ่งซน คนนึงไม่ซนน่ะ โอเค แต่ถ้ามา 10 คน ซนพร้อมกันน่ะตาย…”

ด.ช. ธนทัต ขวัญไสวธรรม (น้องเป๊ะ) รับบทเป๊ะ

วันเกิด 12 มิ.ย. 2545 อายุ 5 ขวบ การศึกษา :อนุบาล 3

ส่วนสูง 110 ซม.น้ำหนัก 19กก.

ชื่นชอบ: การ์ตูน / ฟุตบอล อาหารโปรด :ผัดสะตอ

…แรกเห็น ใคร ๆ ก็ยอมแพ้ความซน แต่หลังถ่ายทำไปไม่กี่คิว เป๊ะเป็นนักแสดงที่แก๊งส์ผู้ใหญ่ ต่างยกนิ้วให้ พร้อมตั้งฉายาว่า “เป๊ะเทคเดียว” เพราะเล่นได้แนบเนียนมาก

…ของโปรดคือ ลูกอมฮอลล์รสน้ำผึ้ง (ไม่ต้องแปลกใจที่ฟันหลอ) ชอบที่สุดคือ เล่นเกมส์ เป๊ะยังเป็นเด็ก 5 ขวบที่ทีมงานและนักแสดงร่วมต่างยกนิ้วให้กับความอึด เพราะไม่ว่าจะดึกดื่น เที่ยงคืน ถ่ายคิวดึกแค่ไหน เป๊ะก็ไม่เคยบ่นว่า ง่วงนอน เพราะนั่งตาใสอยู่หน้าจอคอมฯ เล่นเกมส์ รอเข้าฉากต่อไป แถมเล่นจริง ร้องไห้จริง เพราะกลัวแม่ (ในหนัง) จริงๆ

…เป๊ะยังเป็นเจ้าของเพลงฮิต ประจำกองถ่าย เพลง “เด็กมีปัญหา” ของโฟร์-มด ที่เป๊ะจะวิ่งมาร้องเพลงนี้ เต้นยั่ว โฟร์ ศกลรัตน์ เจ้าของเพลงตัวจริงฟังให้ฟังเสมอๆ

…เป๊ะเคยถามแม่ว่า “ขอเป๊ะลาออกจากโรงเรียนอนุบาลเดิมมาเรียนโรงเรียนอนุบาล RS ได้ไหม??”

“เซน 1” รับบทโดย ด.ช. สรรภวัต สุระเกรียงศักดิ์ (น้องเซน 1)

…เด็กชายอนุบาล 3 ตัวอ้วนสุด ตัวตันตัน หน้าตาเป็นเสือยิ้มยาก สีหน้าไม่บอกอารมณ์ บ้าพลัง เป็นลูกชายเจ้ร้านทอง พลังที่มีในตัวอยู่มาก จึงมีความมุ่งมั่นที่จะแข่งขันกีฬาเต็มเปี่ยม มีความน่ารักที่มาพร้อมกับความกลมกลึงของรูปร่าง แถมคุณแม่ผลักดันสุดฤทธิ์ ให้เซน 1เป็นหัวหน้าทีม

จิ๊ก – เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ รับบท คุณแม่น้องเซน 1

อนุบาลเรียนที่ :อนุบาลอดุลวาด

“เป็นคุณแม่น้องเซน 1 ลูกพี่อ้วน น่ารักสุด ๆ ค่ะ เค้าเป็นเด็กแปลกมาก คือหน้าตาเนี่ยไม่บอกอารมณ์เลย หน้าเดียวหมด อารมณ์เดียวหมด อย่างวันหนึ่งเล่น ๆ อยู่ ขี้ราดยังไม่มีใครรู้เลย ไม่บอกใคร แต่เค้าเป็นสไตล์น่ารัก ๆ นะ แต่ละคนจะน่ารักไม่เหมือนกัน ลูกเซน 1 ของพี่เนี้ย น่ารักสุดๆ

เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแม่อย่างพี่ คือจะดันให้ลูกเกิดตลอดเวลา อยากให้ลูกได้ดี มีความปรารถนาดีกับลูก อยากให้ลูกอยู่โรงเรียนแล้วเด่น ๆ น่ะ อยากให้เป็นดาว แล้วลูกก็น่ารักสุด ๆด้วย

พี่ก็คอยประจบครูบาอาจารย์บ่อย ๆ ว่า เอ๊!!… ลูกเราเก่งขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ให้อยู่ข้างหน้า ทำไมไม่ให้เป็นหัวหน้าทีม แถมต้องสู้รบปรบมือกับผู้ปกครองคนอื่นๆหน่อยหนึ่ง ชิงดีชิงเด่นกันน่ะ เพราะพ่อ-แม่ทุกคนก็รักลูกตัวเอง อยากให้ลูกของตัวเองเด่นน่ะ อยากโชว์ออฟว่าลูกเราเก่ง ลูกเราน่ารักน่ะ เลี้ยงง่าย พอกินข้าวเสร็จแล้วก็ยืนอิ่มแบบว่าจะหลับ ตื่นมากองถ่ายแต่เช้า 6 โมง เด็กอ้วน แบตฯในตัวก็จะหมด ขนาดกางเกงหลุดยังยืนจับไว้มือหนึ่งขำมาก”

ด.ช. สรรภวัต สุระเกรียงศักดิ์ (น้องเซน1) รับบท เซน 1

อายุ 5 ขวบ การศึกษา อนุบาล 3 ส่วนสูง 137 ซม.น้ำหนัก 32กก.!!

ชื่นชอบ : ไรเดอร์บูล งานอดิเรก : ว่ายน้ำ / เป่าเมโลเดี้ยน อาหารโปรดข้าวเหนียวหมูปิ้ง

…คนนี้เด็ดสุด อ้วนจ้ำม่ำ น่ารักน่าหยิก แต่เป็นหนุ่มยิ้มยากประจำกองถ่าย ยิ่งถ้าใครไม่สนิทอย่าหวังว่า จะคุยด้วยง่าย ๆ แต่ถ้าสนิทก็มีสิทธิ์ได้เห็นรอยยิ้ม ที่ชวนให้งงว่า ลืมตาหรือหลับตาอยู่

…คิวแรกที่มาถ่ายทำ เซน 1 เรียก “เรียว” ผู้กำกับฯว่า “ลุงเรอ” อย่างไม่มีเหตุผล ทำให้เด็ก ๆ ดรีมทีม พากันเรียก “ลุงเรอ” ตามเซน 1 กันหมด (นิสัยเรียกชื่อคนเพี้ยน ๆ นี้อาจจะเป็นกรรมพันธุ์จากหม่าม้าในเรื่องเพราะพี่จิ๊กก็เรียก “เรียว” แบบเบี้ยว ๆ ตามใจฉันว่า “อาเดียว”)

…เซน 1 ได้ตำแหน่งมนุษย์เจ้าปัญหาไปครอง เพราะไม่ว่าจะถ่ายอะไร ต้องเล่นแบบไหน มีคนนี้คนเดียวเท่านั้นที่จะไม่ยอมให้ความสงสัยวนเวียนอยู่ในหัว จะต้องซักจนกว่าจะรู้เรื่อง แต่เมื่อมีไดอาล็อกให้คุย นักแสดงหุ่นอวบคนนี้ จะท่องบทจนขึ้นใจ และเล่นตามบทได้อย่างน่ารักเป๊ะ!! เมื่อถามถึงความประทับใจ “เซน 1” ตอบอย่าง น่ารัก สมตัว ว่า “หมูก้อนทอด กับพะโล้น่องไก่ กองถ่ายอร่อยมากครับ”

“ภูมิ” รับบทโดย ด.ช. ภูริ สรีระศาสตร์ (น้องภูมิ)

…รูปร่างผอมบาง และบุคลิกช่างคิด หน้าตาเหมือนคิดอะไรอยู่ตลอดเวลา ภูมิเป็นอีสุกอีใส จนกระทั่งมีเพื่อนมาบอกว่า ภูมิเป็นเอดส์ ภูมิก็เชื่อเพื่อนเสียสนิทใจภูมิมีพ่อ-แม่ที่ชอบเถียงกันตลอดเวลา

ศรีพรรณ บุนนาค รับบท แม่น้องภูมิ

อนุบาลเรียนที่ :อนุบาลจุไรรัตน์

“เรื่องนี้ต้องบอกก่อนว่า น้องภูมิเป็นลูกที่อ้นเคยอุ้มท้องไว้ ในหนังเรื่อง ‘เมล์นรก หมวยยกล้อ’ คลอดออกมาเลยเป็น น้องภูมิ (ฮ่า) ลูกชาย เรียบร้อย น่ารักมาก แต่พ่อแม่ก็ยังทะเลาะกันตลอด กับสามี (ในจอ) พี่ซ้งธ์คนเดิมนี่ล่ะ ถ่ายหนังเรื่องนี้ ปวดหัวมาก ต้องกินพาราเซตามอลตลอดเวลา เพราะมันต้องตะโกน ๆ ตลอด แต่ชอบมาก มองไปทางไหนมีแต่เด็ก ๆ ๆ รักเด็กคะ (ฮา)”

ซ้งธ์ ธรธร สิริพันธ์วราภรณ์ รับบท พ่อน้องภูมิ

อนุบาลเรียนที่ :อนุบาลศรีอรัญโยทัยอ.อรัญประเทศ

“ลูกชายเป็นอีสุกอีใส แต่เพื่อนหาว่าเป็นเอดส์ ลูกไม่น่ามีพ่อแม่อย่างนี้เลย (หัวเราะ) ลูกเขาดีชั้นหนึ่ง พอดีวันนั้น เมียไม่มา ผัวเลยต้องไปทะเลาะที่โรงเรียน

มาเห็นเรื่องราวในหนัง “ดรีมทีม’ เรายังคิด เออ… คิดได้ไง จริง ๆ เรายังอยากทำหนังเด็ก พอเห็นเพื่อนได้ทำเราดีใจมากเลย แต่เขาคงทำเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วไม่ทำอีกแล้วล่ะหนังเด็ก (ฮา) เด็ก สัตว์ สลิง มันผจญภัยกับเด็ก เจอมันทุกวันโดนเด็กรุมทุกวัน”

ด.ช. ภูริ สรีระศาสตร์ (น้องภูมิ) รับบทภูมิ

วันเกิด 19 มิ.ย. 2544 อนุบาล 3 ส่วนสูง 122 ซม.น้ำหนัก 19กก.

ผลงาน ช่วงดันดารา ตีสิบ โปรดปราน : อุลตร้าแมน/ไอ้มดแดง อาหารโปรด ต้มหน่อไม้,ผัดเห็ด

ความสามารถพิเศษ :จำป้ายจราจร/ธงชาติ/นับเลขภาษาอังกฤษ

…6 ขวบฉลาดเกินตัวระดับ อนุบาล 3 แต่ภูมิท่องสูตรคูณได้ครบทุกแม่ บวกลบเลขได้เกิน 3 หลัก พูดจาเข้าใจ เรียบร้อยมาก ภูมิเป็นคนคอยควบคุมเพื่อน ๆ ให้อยู่ในความสงบ แต่อยู่ที่ว่า ใครจะเชื่อหรือเปล่า (ฮ่า) ภูมิ อินกับบทบาทหายห่วง แค่ทีมงานแต่งเอฟเฟ็คท์ให้เป็นอีสุกอีใส ภูมิก็อินจนเสียน้ำตา น้อยอกน้อยใจในโชคชะตา ที่ตัวเองหล่อน้อยกว่าเพื่อน แต่ภูมิก็อดกลั้นน้ำตาได้ พร้อมกับบอกเพื่อน ๆ ทุกคนที่มาปลอบว่า ไม่ต้องปลอบเขามาก เพราะ “เราร้องไห้แค่นิดเดียว ไม่เป็นอะไรมาก”

…ภูมิ เป็นคนที่ทำให้ อ้น ศรีพรรณ ซึ้งกับคำว่า “แม่” เพราะ ภูมิเรียกอ้น ศรีพรรณ ว่า “แม่อ้น”ทุกคำ

เซน 2″ รับบทโดย ด.ช. ธนกร เมธาวุฒิกีรติ (น้องเซนต์ 2)

…หน้าตาน่ารัก อินเทรนด์ แนวพระเอกเกาหลี คุณพ่อด็อกเตอร์ พยายามสอนว่า เซน 2 ต้องเก่งเป็นที่หนึ่งแพ้ไม่ได้

คมสัน นันทจิต รับบท ด็อกเตอร์ (คุณพ่อน้องเซน 2)

อนุบาลเรียนที่ :อนุบาลสุวรรณินวิทยา

“เล่นเป็นพ่อของเซน 2 ครับ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็น ดร. เป็นคนมีฐานะ เรียนเก่ง ปริญญาเอก ลูกแพ้ไม่ได้ เล่นกีฬามีแต่ชนะห้ามแพ้ เพราะเราคำนวณมาแล้วว่ามันชนะได้

ตอนเห็นหน้าลูกก็ตกใจ น่ารัก หน้าเหมือนกันมาก เซนต์ 2 น้องเขาเป็นคนว่าง่าย เป็นเด็กฉลาด วันแรกที่เข้าฉากด้วยกัน เขาท่องบทมาหมดแล้ว ท่องได้จริง ๆ นี่ เซนต์ 2 ครับ อย่าไปเปรียบกับลูกพี่จิ๊กครับ คนละทาง (หัวเราะหึ ๆ) ลูกผมมันน่ารัก

ส่วนตัวผม ไม่ชอบเด็กครับ สิ่งมีชีวิตที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ชอบเลยครับ ผมแพ้คลื่นเสียงความถี่สูง เด็กอยู่กันเยอะ ๆ มันจะเป็นการกระจายเสียงที่ไร้ทิศทาง จอแจ ผมชอบแต่สิ่งไม่มีชีวิตยกเว้นผู้หญิง” (หัวเราะกิ๊กกั๊ก)

ด.ช.ธนกร เมธาวุฒิกีรติ (น้องเซนต์ 2) รับบทเซน 2

วันเกิด 15 มี.ค. 2545 ส่วนสูง 111 ซม. น้ำหนัก 19 กก. อาหารโปรดไข่เจียว

โปรดปราน ไอ้มดแดง งานอดิเรก เล่นเปียโน สัตว์เลี้ยง :สุนัข

…ไม่ว่าใครจะสั่งอะไร เซนต์ 2 ก็จะเข้าใจง่ายจนทำให้ทีมงานเบาใจ ยกเว้นเฉพาะเวลาที่มีเพื่อนๆ นำขบวน เซนต์ 2 ก็มีเผลอไผลบ้าง ไม้ตายที่เซนต์ 2 ยอมแพ้คือ คุณแม่ เพราะคุณแม่ฝากฝังทีมงานไว้เลยว่าตีได้เลย

…เซนต์ 2 เป็นเด็กกระตือรือร้น พูดเก่ง แต่พูดเป็นประโยคบอกเล่าล้วน ๆ ไม่มีคำถาม และไม่ต้องการคำตอบ เซนต์ 2 ต้องการแค่ให้คนยอมฟัง หรือ ดูเขาเล่นกลไปเรื่อย ๆ กระซิบให้ว่า เซนต์ 2เล่นกลเก่งมากอย่างไม่น่าเชื่อ

…เซนต์ 2 ชอบมาถ่ายหนังมาก วันไหนมากองถ่ายเซนต์ 2 จะตื่นเองได้แต่เช้า แต่เวลาใครถาม มากองถ่ายเล่นอะไรจะ เซนต์ 2 จะบอกว่า “มาเล่นชักเย่อ” ส่วนของโปรด ใช้หลอกล่อเซนต์ 2 คือข้าวเหนียวหมูฝอยเจ้าประจำ

“อะตอม” รับบทโดย ด.ช. ธนพล บุญเจริญสุข -น้องตี่ตี๋

…หนุ่มน้อย หล่อน่ารัก แต่ตื่นเต้นทีไรเป็นปวดอึ ต้องพกกางเกงสำรองติดตัวไว้เสมอ คุณพ่อเสียงหล่อของอะตอมก็ชอบเตรียมกางเกงแดงไว้ให้อยู่เรื่อย

เอกราช เก่งทุกทาง รับบท คุณพ่อน้องอะตอม

โรงเรียนอนุบาลไม่รู้รู้แต่เชียร์ลิเวอร์พูล

“รับเล่น ก็เป็นเพราะได้เล่นกับเด็ก ๆ เป็นคนรักเด็ก (หัวเราะ) คิดว่าเรียวเค้าคงจะทำหนังที่แบบว่ามีสาระ ๆ ครับ (หัวเราะ) คือมีอารมณ์ขัน แต่ก็มีธีมของความมีคุณค่าของชีวิต คุณค่าของชัยชนะว่าชีวิตคนเราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะเสมอไป แล้วก็มันเป็นเรื่องของครอบครัว

น้องตี่ตี๋หรือน้องอะตอมในเรื่องเนี่ย ซนมาก!! (หัวเราะ) คือธรรมดาของเด็กเนี่ยเค้าก็คือจะไม่ค่อยอยู่นิ่ง แป๊ป ๆ ก็ไปโน่นไปนี่แล้ว เวลาสั่งคัทก็ไปเล่นดินเล่นทราย เป็นเด็กที่ Alert มาก แต่ตี่ตี๋เนี่ยเค้าก็มีความตั้งใจอยู่นะ ซึ่งดูแล้วเป็นธรรมชาติดีตี่ตี๋เค้าเป็นอะไรที่น่ารัก

ชอบทุกคนนะน่ารักทุกคนแหละ แต่ผมว่าเด็กดรีมทีมกลุ่มนี้เนี่ยซนนะ แล้วก็มีความเป็นตัวของตัวเองทุกคนเลย มากองถ่ายแล้ว ปวดหัวแทนผู้กำกับฯ คือเด็กมันซน!!พอมาเล่นหนังเรื่องนี้แล้วอยากมีลูกเลย” (หัวเราะ)

ด.ช. ธนพล บุญเจริญสุข (น้องตี่ตี๋) รับบท อะตอม

วันเกิด 11 มิ.ย. 2545 อนุบาล 3 ส่วนสูง 110 ซม.น้ำหนัก 22กก.

อาหารโปรด ข้าวมันไก่ นิสัย ร่าเริงมากช่างพูดชอบอ่านหนังสือ

…หนูน้อยอารมณ์ดี ซน แก่น ไปวันๆ แต่ต้องมารับบทหนัก (หนักอย่างเดียว ไม่เบา) เพราะตามบท ตี่ตี๋ต้องอึราดกลางสนามซ้อม ต้องโดนเพื่อนล้อ แซว เรื่องอึราด จนได้ฉายาว่า “อะตอมขี้แตก” แต่ตัวจริง ตี่ตี๋กลับเฉยชากับเสียงล้อเลียนมาก ทำหน้านิ่ง ๆไม่สะท้านกับการโดนแซว

…เช่นเดียวกับ ฉากแก้ผ้าให้คุณพ่อเอกราชใส่กางเกงให้ ตี่ตี๋ก็ยังสงบเชิดหน้าไม่สะทกสะท้าน แต่หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า แก้มตี่ตี๋แดงแจ้ด เพราะความเขิน งานนี้ทุกคนเลยลงความเห็นว่า “จริง ๆ ตี่ตี๋น่ะ อาย แต่ฟอร์มจัด”

…วันแรกที่ตี่ตี๋ รู้ว่า ตัวเองรับบทเด็กอึราด ตี่ตี๋ร้องไห้ไม่ยอมแสดง เกิดเป็นปมปัญหาที่ต้องยอมพักกองถ่าย เพื่อปรับความเข้าใจ และให้ตี่ตี๋ทำใจได้ถึงจะถ่ายทำต่อได้

ด.ช. ศุภโชติ รัชวรพงศ์ (น้องริชชี่) รับบท ริชชี่ – หัวหน้าทีม “ดรีมทีม”

วันเกิด 22ก.พ. 2545

อนุบาล 3

นิสัย สนุกสนานร่าเริง

ส่วนสูง 120 ซม. น้ำหนัก 19กก.

พี่น้อง 2คน

อาหารโปรดผัดผักบร็อคโครี่กับกุ้ง

งานอดิเรก ต่อเลโก้ ร้องเพลงอ่านหนังสือ

…หัวหน้าทีมของดรีมทีม รูปหล่อประจำทีม ริชชี่เป็นเด็กน่ารัก ว่าง่าย ชอบมีคำอธิบายประหลาดๆให้เพื่อน เช่น สเตเดี้ยม เป็นคนอธิบายให้เพื่อนฟังว่า สเตเดี้ยม คือ “สยาม” กีฬาในร่ม (555) ความรู้รอบตัวเยอะ ชอบอ่านหนังสือ มีความเป็นลูกผู้ชาย แมนมาก สมกับเป็นหัวหน้าทีม วันที่ถ่ายทำฉากแข่งขันกีฬาอนุบาลแห่งชาติ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ แล้วทีม “ดรีมทีม” แพ้ ทีม “ม้าไม้” และทีม “จอมพลัง” ริชชี่ถึงกับร้องไห้จริง ๆ จนถูกพี่กิ๊กแซวว่า “นี่ถ่ายหนังนะ ริชชี่อินเกินไปรึป่าวแพ้ในหนังไม่ต้องร้องไห้”

ด.ช. อัจฉริยะ อุปการดี (น้องสตางค์) รับบทสตางค์

วันเกิด 21ก.พ.2544

อนุบาล 3

ส่วนสูง 115 ซม. น้ำหนัก 21กก.

ความสามารถพิเศษร้องเพลงลูกทุ่ง

อาหารที่ชอบข้าวไข่เจียว

…หนุ่มน้อยหน้าคมเชื้อสายหนุ่มใต้ สตางค์เป็นเด็กตั้งใจ มีความพยายามสูง แต่เป็นมนุษย์เหตุผล ทำนั่นไม่ได้ เพราะอย่างนี้นะ สตางค์เชื่อมั่น ว่า ตัวเองเก่ง เรียบร้อย พูดจาเหมือนผู้ใหญ่ บุคลิกนิ่ง สุขุมกว่าเพื่อน ๆคนอื่น

…สตางค์มีหน้าที่ขอลายเซ็นพี่โฟร์ ให้พี่ ๆ ที่บ้าน ซึ่งเป็นแฟนคลับพี่โฟร์ สตางค์ชื่นชอบรถไฟมาก เพราะคุณพ่อชอบพาไปดูรถไฟจนสตางค์ใฝ่ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นวิศวกรรถไฟ

ด.ช. พชธกร ธนพัฒนากุล (น้องจุ้ย) รับบท จุ้ย

วันเกิด 12 มิ.ย. 2545 อนุบาล 3 นิสัย ร่าเริง ชอบหัวเราะแรงเยอะบ้าพลัง

ส่วนสูง 110 ซม. น้ำหนัก 27 กก. โปรดปรานการ์ตูน

อาหารโปรด ข้าวเหนียวไก่ทอด

…น้องจุ้ยเข้ามาด้วยความโดดเด่นของหน้าตา ที่ดูไปดูมา จะได้อารมณ์คล้ายกำลังมอง “หลวงจีน” กำลังฝึกวิชาวัดเส้าหลิน (555) นิยามของจุ้ย คือ เป็นนักเลง บ้าพลัง แรงเยอะ กินเก่ง จุ้ยตัวจริงก็แข็งแรง พลังเยอะกว่าเพื่อน เป็นหน่วยกำลังสำคัญของดรีมทีมในการออกแรงดึงเชือกแข่งชักเย่อ

ด.ช. เจษฎาพร บุญสอน (น้องเจ็ส) รับบท เจ็ส

วันเกิด 15 ต.ค. 2544 อนุบาล 3 นิสัย ร่าเริงยิ้มเก่ง

มีฉายา เจ็สชอบโชว์ พี่น้อง 3 คน โปรดปราน การ์ตูน/สารคดี อาหารโปรดเนื้อปลา

…เจ็สเป็นเด็กอนุบาล 3 ที่มีทักษะทางกีฬาสูง ในบรรดาเด็กอนุบาลกว่า 600 คน ที่ทีมงานคัดเลือก เจ็สเป็นคนเดียวที่ดึงเชือกชักเย่อถูกต้องโดยไม่มีใครสอน นั่นทำให้ เจ็สได้รับเลือกให้มาเป็นหนึ่งในขุมกำลังสำคัญของ “ดรีมทีม”

…อุปนิสัยน่ารัก แมน ๆ ดื้อเงียบ ฉายา เจ็สชอบโชว์ ยิ่งใครล้อ หรือร้องขอ “ขอดูหน่อย” เจ็สก็โชว์ “ช้างน้อย” ได้อย่างแมนๆ

…เจ็สถามผู้กำกับฯ เสมอๆ ว่า เมื่อไรเจ็สจะมีบทพูด จนวันหนึ่งเมื่อ พี่เรียว ผู้กำกับฯ บอกว่า วันนี้ให้เจ็สพูดล่ะ เพียงประโยคเดียว เจ็สก็ตื่นเต้นมาก ท่องบทไม่หยุด ถามทีมงานไปทั่ว ทำไงดี?? ทำไงดี??แต่พอถึงนาทีที่เจ็สรอคอยมาถึง…เจ็สกลับไม่พูดอะไรออกมาสักคำ!?!

 

ดรีมทีม

 

About Dream Team

“ดรีมทีม” ภาพยนตร์แนวแฟมิลี่ คอมเมอดี้ เรื่องราวของ โค้ชเบิร์ด กับ ครูหนูเล็ก ที่มาปะทะคารมกัน แถมต้องมาปวดหัวกับเหล่าเด็กแสบระดับอนุบาล 3 จำนวน 10 คน ในทีมชักเย่อ “ดรีมทีม” ที่ฝึกซ้อมแข่งขันกีฬาอนุบาลแห่งชาติครั้งที่ 18

แต่แล้วเส้นบาง ๆ คั่นระหว่าง ฮีโร่ กับ ตัวสำรอง เกิดขึ้น เพราะกติกาแข่งขันกำหนดนักกีฬาไว้เพียง 9 คน หมายถึง 1 ใน 10 ของดรีมทีมต้องนั่งเก้าอี้สำรอง !

ร่วมลุ้นไปกับสุดยอดเกมส์กีฬาครั้งแรกในชีวิตเด็ก 5 ขวบ 10 คน “ดรีมทีม” แก๊งนักกีฬาเด็กอนุบาลแสบซน ที่ทั้งโค้ช ครู พ่อแม่ กองเชียร์ฝากความหวังกันซะเต็มเหนี่ยวเชียร์กันเต็มสตรีม

เกมส์นี้ห้ามแพ้

ใคร(ฟะ) ว่ากีฬามีแพ้มีชนะ

ทีมงานสร้าง : แฟมิลี่-คอเมดี้ (แนวภาพยนตร์) / อาวอง (บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย) / เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์, สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร) / จันทิมา เลียวศิริกุล, กิตติกร เลียวศิริกุล (ควบคุมงานสร้าง) / เรียว กิตติกร (ผู้กำกับภาพยนตร์) / เรียว กิตติกร (เรื่อง) / เรียว กิตติกร, สุทธิพร ทับทิม (บทภาพยนตร์) / ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, สาธิกา โภคทรัพย์, ณัฐกานต์ ภู่เจริญศิลป์ (ฝึกสอนการแสดง) / จิระเดช สำเนียงเสนาะ (กำกับภาพ) / สมศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ถ่ายภาพสเตดี้แคม), จตุชัย บุญสินธ์, ประมุข อิ่มรัตนะ, ยุทธนา โพธิโชติ, ทรงวุฒน์ ไตรวิลาศ (ศิลปกรรม) / วรธน กฤษณะกลิน (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / อดิช เยี่ยมฉวี, วรพันธ์ นรา ภิรมย์ขวัญ (แต่งหน้า) / ชุติกาญจน์ ทิสานนท์ (ทำผม) / สิรภพ ตุงคะเศณี (บันทึกเสียง) / เรียว กิตติกร, วรวัฒน์ ณ กาฬสินธุ์ (ลำดับภาพ) / บริษัท ไจแอ็นท เวฟ จำกัด (กันตนาฟิล์มแล็บ (ดนตรีประกอบ) / กันตนา ฟิล์มแลป (เทคนิคฟิล์มแลป และผสมเสียง), วชิระ วงศาโรจน์, สมศักดิ์ พิมพาลัย (ผสมเสียง) / พรรณพันธ์ ทรงขำ, บริษัท เดอะ โพสต์ บางกอก จำกัด (เทคนิคพิเศษด้านภาพ) / ปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ (ที่ปรึกษาส่วน โพสท์โพรดักชั่น) / มณฑล อารยางกูร (กำกับ UNIT 2) / สราวุธ วิเชียรสาร (กำกับ UNIT 3) / เหมันต์ เชตมี (กำกับ UNIT 4) / ปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ (กำกับ UNIT 5) / สุทธิพร ทับทิม (กำกับ UNIT 6)

นำแสดงโดย: เกียรติ กิจเจริญ, ศกลรัตน์ วรอุไร, อัมรินทร์ นิติพน, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, คมสัน นันทจิต, ภัทรวรินทร์ ทิมกุล, ศรีพรรณ บุนนาค, ธรธร สิริพันธ์วราภรณ์, เอกราช เก่งทุกทาง, คริส ไรธ์ (คริส ดิลิเวอรี่), จิรายุ ห่วงทรัพย์, ดร. เสรี วงษ์มณฑา, ธวัชชัย สัจจกุล, ด.ช. กฤษฎา ชนะภัยเจริญสุข (คาร์บิว), ด.ช. ธนทัต ขวัญไสวธรรม (น้องเป๊ะ), ด.ช. สรรภวัต สุระเกรียงศักดิ์ (น้องเซน), ด.ช.ธนกร เมธาวุฒิกีรติ (น้องเซนต์), ด.ช. ภูริ สรีระศาสตร์ (น้องภูมิ), ด.ช. ธนพล บุญเจริญสุข (น้องตี่ตี๋), ด.ช. พชธกร ธนพัฒนากุล (น้องจุ้ย), ด.ช. ศุภโชติ รัชวรพงศ์ (น้องริชชี่), ด.ช. เจษฎาพร บุญสอน (น้องเจ็ส), ด.ช. อัจฉริยะอุปการดี (น้องสตางค์)

“ดรีมทีม” เกมส์เล็กหัวใจใหญ่!!!

“เรียว กิตติกร เลียวศิริกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ฝากผลงานโดดเด่นด้านกำกับฯ นักแสดงกลุ่มได้ยอดเยี่ยม อย่าง “เมล์นรก หมวยยกล้อ”, “อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม”, “โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ” ฯลฯล้วนแต่โดดเด่นกับการทำงานกับเหล่านักแสดงกลุ่มให้เป็นทีมเวิร์คได้อย่างดี

…แต่เหตุผลใดเล่า เรียว กิตติกร หยิบโปรเจคหนัง ที่มีนักแสดงนำอายุน้อยแค่ 5 ขวบ มาเป็นทีมถึง 10 คน ใน “ดรีมทีม”ภาพยนตร์ใหม่ล่าสุดงานนี้จึงไม่ธรรมดา…

…ดูท่า ชีวิตผู้กำกับฯคงสบายเกินไปเป็นแน่ (ฮา)

“ส่วนตัวอยากดูหนังเรื่องนี้มากเลย พอดี ไม่มีคนทำ งั้นตูทำเอง เพราะจะได้ดู (หัวเราะ) เคยไปดู งานกีฬาอนุบาล กทม. มา เรานึกในใจ เป็นหนังมันต้องสนุก แล้วเรารู้สึกว่า มันมีเรื่องเล่าเยอะเลยในการแข่งขันเกมส์ๆ หนึ่ง เราเคยเล่นกีฬาระบบทีมมา ก็สะดุดประเด็น ว่า 10 คนเอา 9 คน มันจะเป็นยังไง ในความเป็นทีมเวิร์ค แล้วถ้าเป็นเด็กอนุบาลด้วย มันจะเป็นยังไง มันมีเรื่องพ่อแม่ เรื่องครู โค้ช ความคาดหวังเยอะแยะไปหมดพ่วงมาด้วย

ยิ่งสืบค้น กีฬาชักเย่อ สืบ ๆ ประวัติไปก็ยิ่งน่าสนใจว่า เป็นนันทนาการ หรือ กีฬาแข่งขัน แล้วการค้นเรื่อง ฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ กายภาพในการชักเย่อ เป็นเรื่องเป็นราวไว้ด้วย เอ๊ะ… ฟิสิกส์การชักเย่อมีจริงด้วย เราก็มองว่าน่าสนใจ เป็นเหตุผลว่า ทำไม ทีมตัวเล็กกว่าถึงชนะตัวใหญ่ได้ เพราะมันมีหลักวิทยาศาสตร์ เทคนิคกีฬาประกอบด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องใจสู้อย่างเดียวแล้ว ยิ่งศึกษาดูก็น่าสนุก

การทำงาน ‘ดรีมทีม’ ทำให้เราได้ใกล้ชิด ได้เห็น ได้เข้าใจเด็กอย่างที่เด็กเป็น ซึ่งย้ำสิ่งที่เราพูดเสมอๆว่า ความพร้อมของเด็กมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ มันมาตอนไหนก็ไม่รู้มันขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิต

พยายามจะบอกว่า อย่าไปคาดหวังกับเด็กเลย เด็กทุกคนมีวิถีชีวิตของเขาเอง เด็กเหมือนการแข่งขันกีฬาน่ะ เราก็เตรียมให้ดีที่สุด แต่คาดหวังผลไม่ได้ แต่ลุ้นได้ ลุ้นสนุกด้วย”

เกมส์นี้ มีฮา : 5 ขวบสู้สุดใจ!!!

…จันทิมา เลียวศิริกุล (เอมี่) โปรดิวเซอร์มือหนึ่งค่ายอาวอง คุณแม่ลูกชายสองคนตอบรับไอเดีย หนังกีฬาเด็กอนุบาล ที่มาพร้อมกับความสนุก กวน ๆ มีลุ้น มีฮา ส่วนจะจบได้เฮ หรือ ได้โฮนั้นต้องรอลุ้นกันในโรงหนัง

“ใช่ ชอบไอเดียหนังที่ถ่ายทอดเรื่องด้วยสายตาเด็ก จับหัวใจความเป็นเด็กจริง ๆ เด็กจะซน จะเซี้ยวก็เด็กจริง ๆ เป็นเด็ก 5 ขวบแต่สู้สุดใจ แข่งกีฬากันอย่างจริงจัง แต่เด็กก็คือเด็ก มันแข่งเอาจริงเอาจังนะ แต่เปิดเรื่องมาก็ต่อยไข่โค้ชแล้ว แข่งกีฬามีแพ้ มีชนะ แต่ผู้ใหญ่คนเดียว โดนเด็กรุมเป็น 10 คน นึกภาพเป็นหนังสนุก น่ารักไปกับความแก่นเซี้ยวของเด็ก ต่อให้แข่งกันจริงจังขนาดไหน เด็กก็คือเด็ก ความมั่วของเด็ก แข่งบ้าง ร้องไห้บ้าง ลุ้นบ้าง ขำบ้าง นักกีฬาคนไหนจะได้ลงแข่ง คนไหนจะร้องไห้ ทีมนี้ ทีมนั้น ใครจะชนะไหม? เป็นหนังกีฬาที่มีอารมณ์ตลกแบบใส ๆ

ไม่รู้นะ เราไม่เคยเห็นหนังไทยแนวนี้มาก่อน หนังที่ใช้เด็กเล็กขนาดนี้ เยอะจำนวนขนาดนี้ แล้วมาถ่ายทอด บันทึกเก็บความเป็นเด็กแบบ ประชิดตัวกันเลย จับอารมณ์เด็กเรียลิสต์ขนาดนี้

ตัวเราเองพอใกล้ชิดเด็กก็รัก ได้เห็นความน่ารัก เห็นแง่มุม ก็คิดว่า ผู้ใหญ่คนอื่นก็น่าจะมาเห็นบ้าง ความสนุก ความสดใส บริสุทธิ์ แต่ก็มีความแสบ ซนอย่างที่ เด็ก ๆ เขาเป็นจริง ๆ เป็นความตลก สนุก สดใส ที่ผู้ใหญ่เรา ๆ ก็อาจจะลืมไปแล้ว พอได้ดูแล้วค่อยนึกขึ้นได้ว่า ใช่…เราก็เคยรู้สึกอย่างนี้ เราเข้าใจมันนะ

เด็กอยากแข่งกีฬา ก็คิดแค่มาแข่ง แต่ผู้ใหญ่จะมองเด็กแบบไหน จริง ๆ มันแอบมีเรื่องราว พ่อแม่ยุคใหม่มองลูกแบบไหน มองเขาอย่างที่เขาเป็น หรือมองเขาอย่างที่เราอยากให้เป็น”

Profile จันทิมา เลียวศิริกุล (โปรดิวเซอร์-ดูแลงานสร้าง)

ผลงานภาพยนตร์ดูแลงานสร้าง

– พ.ศ.2544 มือปืน/โลก/พระ/จัน,ผีสามบาท

– พ.ศ.2546 พันธุ์ร็อกหน้าย่น,สังหรณ์

– พ.ศ.2547 ซาไกยูไนเต็ด

– พ.ศ.2548 จอมขมังเวทย์, เดอะเมีย, อหิงสาจิ๊กโก๋มีกรรม

– พ.ศ.2549 ผีเสื้อสมุทร, รักจัง, ผีคนเป็น, แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า

– พ.ศ.2550 ผีไม้จิ้มฟัน, เมล์นรก หมวยยกล้อ, รักนะ 24 ชม., บ้านผีสิง,โปงลางสะดิ้งลำซิ่งส่ายหน้า

– พ.ศ.2551 ดรีมทีม

“5 ขวบ” VS “รุ่นใหญ่” ใครหนอยกธงขาว!!!

…เพื่อจะบันทึกความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง บวกกับความน่ารักของเด็ก ๆ แนวการทำงานของภาพยนตร์เรื่อง “ดรีมทีม” จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การไปค้นหาเด็ก ๆ จากโรงเรียนอนุบาล และถ่ายทำเรียงลำดับเหตุการณ์ปล่อยให้นักแสดงเป็นธรรมชาติมากที่สุด

…เรียว กิตติกร เลียวศิริกุล ผู้กำกับฯ ระบายความรักเด็ก (ฮา)… “ดรีมทีม”ว่า

“ตอนนึกอยากดูหนัง น่าจะสนุก แต่ตอนทำคงไม่สนุก คือ การถ่ายเด็ก 5 ขวบ ไม่ใช่เรื่องง่าย สภาพเด็ก บวกความซน ต้องพิถีพิถัน ตั้งแต่เลือกทีมงานให้น้อยที่สุด คนที่ทนเด็กได้ ใจเย็น ต้องทำงานกับเด็ก ต้องสนุกได้กับเด็ก ทำงานเรื่องนี้ เหมือนเรามีลูกเพิ่มมา 10 คน เตรียมใจว่า งานจะหนักในการบริหารเด็ก การเอาเด็กมาเข้าหน้าเซต ทำอย่างไรเด็กจะเข้าใจว่า พร้อมถ่ายทำ นี่จึงเป็นเรื่องยากของทีมงาน”

…เป็นความตั้งใจของ ผู้กำกับฯที่จะไม่เลือกเด็กจากโมเดลลิ่ง

“เราไม่เลือกเด็กโมเดลลิ่ง เด็กที่ฝึกการแสดงมา ด้วยเหตุผล 2 – 3 อย่าง คือเพราะมันไม่เป็นธรรมชาติ ถูกปั้นแต่งแล้ว แนวคิดที่จะทำหนังของเราคือ ปล่อยให้เด็กเป็นธรรมชาติมากที่สุด ล้อมกรอบให้น้อยที่สุด เด็กเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

เราเลือกเด็กหลากหลาย ต่างระดับ ต่างโรงเรียน ต่างพื้นฐาน แต่อยู่ในเกณฑ์อายุ 5-6 ขวบ เด็ก 5 ขวบเป็นช่วงกำลังซน เริ่มพูด เริ่มรู้เรื่อง หาเด็กเผื่อเป็นหนังกีฬาด้วยนะ นอกจากเด็กที่เล่นหนังได้ ต้องมีเด็กที่เล่นกีฬาได้ด้วย มีทักษะด้านกีฬา ใช้มือ แขน ขาได้พร้อมหรือยัง

หน้าตาก็มีส่วน แต่ไม่ใช่เรื่องหน้าตาดี เป็นเรื่องรัศมีดารา เด็กบางคน ร้องไห้เราเฉยๆ แต่เด็กบางคนแค่แบะ จะร้องไห้ เราก็สงสาร รีบโอ๋ อันนี้ก็มีส่วน

โปรดักชั่น 4-5 เดือน เสียเวลาไปกับการทำความเข้าใจเด็ก เป็นประเด็นหลักเลย ทำอย่างไรเด็กถึงเล่นหนังได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเด็ก ซึ่งแต่ละวันไม่เหมือนกัน แต่จากประสบการณ์ลูกเราเองด้วยส่วนหนึ่ง เรียนรู้จากเด็ก 10คนด้วยส่วนหนึ่ง”

…ชาญศักดิ์ ลีลาเกษมสันต์ (เอี๋ยม) ผู้ช่วยผู้กำกับฯ และโค้ชแอ็คติ้ง รับหน้าที่ดูแลการแสดงของเหล่าเด็ก ๆ ตัวน้อย “ดรีมทีม” สุดแสบซน อธิบายเส้นทางการคัดสรรนักแสดงเด็กจนถึงกลยุทธ์ในการหลอกล่อเด็กๆในกองถ่าย

“คัดเลือกเด็กไม่ได้เริ่มดูจากหน้าตา แต่หาเด็กมีคาแร็คเตอร์ ในบรรดาโรงเรียนอนุบาลที่ทีมงานไปตระเวนดู เด็กเป็นร้อยๆ คน เด็กมีคาแร็คเตอร์นี่เห็นกันแว่บแรกแว่บเดียวรู้ได้เลย

ทีมงานเราแบ่งสายกันไปตามโรงเรียนอนุบาล แล้วทุกเย็นเอารูปเด็กมารวมกัน คัดเด็กออก ก็เป็นการแคสเด็กที่เยอะมาก มากกว่า 3,000 คน รวมที่เรียกโมเดลลิ่งมาด้วย อีกกว่า 600 คน เพื่อหาให้ได้เพียง 10 คนนี้ ในรอบ 1 เดือนเต็มๆ เพื่อหาเด็ก ‘ดรีมทีม’ ที่ต้องรับบทในภาพยนตร์เรื่องนี้

เราก็มองมุมเด็กแต่ละคน ว่ามีวิธีการพูดอย่างไร มีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบแต่ละคนที่ตรงจุดไหนบ้าง วิธีการพูดแต่ละคนอย่างไร ให้เป็นไปโดยธรรมชาติ มันเหมือนเราเลี้ยงเค้า เป็นลูกหลานที่เราต้องดูแลแล้ว ส่วนหนึ่งคือทำงาน แต่อีกส่วนคือ ดูแลให้เขาแข็งแรงขึ้น โตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น เด็กแต่ละคน มากันต่างที่ ต่างครอบครัว ต่างโรงเรียน ต่างสภาพแวดล้อม บางคนมารวมกันแล้วเข้ากันไม่ได้เราก็ต้องพยายามจูนให้เข้าเป็นกลุ่มเป็นทีมเดียวกันให้ได้

จุดประสงค์ของเรา ไม่ได้หาเด็กแล้วมาฝึกให้เล่นได้ เราไม่ได้เอาเด็กมาทำให้ได้อย่างที่เราอยากให้เป็นแต่ทีมงานเราจะพร้อมที่จะบิดตัวเองให้เป็นอย่างที่เด็กเป็น

การกำกับฯ เด็กมันวัดผลไม่ได้ว่า วิธีไหนใช้ได้กับใคร มันต้องลองไปเรื่อยๆ ถ้าลองไปแล้วยังไม่ใช่ก็เปลี่ยนทันที คือ การบ้านเราคือ ค้นหา inner ภายในของเด็ก แต่เราทำการบ้านก่อนล่วงหน้าไม่ได้อารมณ์เด็กแต่ละวันมันไม่เหมือนกัน

เด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่บังคับไม่ได้ สิ่งที่เรากลัวที่สุด คือ กลัวเด็กเบื่อกองถ่าย ไม่ยอมมา เราก็ต้องปล่อยไปก่อน บังคับไม่ได้ ให้เขาสนุกกับกองถ่าย แต่เราโชคดีที่เราได้เด็ก 5 ขวบที่อดทนกับคน อดทนกับบรรยากาศกองถ่ายได้ เราโชคดีได้เด็กทั้ง 10 คนนี้เด็กที่พ่อแม่เข้าใจจึงกลายเป็นจุดแข็งของทีมนี้

หนัง ‘ดรีมทีม’ ไม่มีหลอกถ่าย ถ่ายจริงๆหมด เด็กๆ เป็นนักแสดงหมด เพียงแต่ถ่ายแล้วเทคไหนใช้ได้ เทคแรก หรือ ต้องถ่ายใหม่อีกวันหนึ่ง เด็กที่เราเห็นพัฒนาการ เข้าใจการแสดงอย่างเห็นได้ชัดคือ เป๊ะ นี่เข้าใจสุดๆส่วนคาร์บิวนี่เข้าใจจังหวะรีแอ็คชั่น”

…ส่วนคำถามว่า ถ้าให้เกรดวัด มาตรฐานความซนของเด็ก “ดรีมทีม” แล้ว โค้ชแอ็คติ้ง ผู้ควบคุมเด็กให้คะแนนความซนเด็ก ๆเท่าไร

“โอ้โหเลยน่ะ ผมให้ เกรด A+ เลย ยังมีอีกหลายๆ มุมที่ไม่มีใครเจอ ผมเจออยู่คนเดียว สารพัดวิธี เช้าๆ ต้องเช็คแล้วว่า มาจากบ้านอารมณ์ไหน วัดไม่ได้เลยว่า ใครแสบสุด แต่ละวันเราต้องเจอตอนเช้าเลย ถึงจะรู้ดัชนีชี้วัดตอนเด็กตื่นมาเราก็เริ่มผจญภัยกันเลย”

…กว่าจะบันทึก ความบริสุทธิ์ ใสซื่อที่เป็นธรรมชาติของเด็กได้ ทีมงานต้องใช้ทั้งจิตวิทยา ขนมหลอกล่อ รวมถึงบางวัน ต้องอาศัย คุณแม่มากองถ่ายจะช่วยเพิ่มพลังการถ่ายทำ เรียว กิตติกร ย้ำวิธีการให้ได้ความเป็นเด็กจริง ๆก็ต้องปล่อยให้เด็กเป็นธรรมชาติที่สุด

“เบื้องหลังหนัง ‘ดรีมทีม’ สนุกมาก 24 ชั่วโมง ดูซิ เด็กอนุบาล พวกนี้ทำอะไร ทำงานกับเด็กเหลี่ยมมันเยอะมาก ทุกวันที่ถ่ายหนังมีเรื่องสนุก เรื่องปวดหัว มีเรื่องมาทุกวัน

ถ่ายๆ หนังไปเด็กก็ไม่คิดหรอกว่า นี่กำลังถ่ายหนัง เพราะทุกอย่างตรงหน้าเด็กคือเรื่องจริง ช่วงแข่งชักเย่อ เราถ่ายเทคเดียวตลอด เราไม่เคยเทคเด็กนะ เด็กก็สู้ตาย ไม่อยากแพ้ไง ไม่อยากเป็นที่โหล่

ต้องบอกว่า หนังเป็นอย่างที่เด็ก 5 ขวบ “ดรีมทีม” เค้าเป็นนั่นล่ะ เด็กดรีมทีม พวกนี้ล่ะ ที่จะทำให้หนังเป็นไปตามที่พวกเขาเป็น หนังมันจะตลก จะกีฬา จะลุ้นไม่ลุ้น ก็เพราะพวกเด็กดรีมทีมนี่ล่ะ

ทางเดียวที่จะเห็นเสน่ห์เด็กพวกนี้ คือ ล้อมกรอบให้น้อยที่สุด ไม่จำกัดสิ่งที่จะเกิดขึ้น เรียลลิตี้กันเลย(ฮา)”

…นอกจากไม่เลือกใช้เด็กจากโมเดลลิ่ง การถ่ายทำก็ถ่ายเรียงลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกสับสน เริ่มตั้งแต่ฟอร์มทีม ฝึกซ้อม จนถึงวันแข่งขัน กีฬาอนุบาลแห่งชาติ ที่ยิมเนเซียม 6 สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต
ซึ่งการถ่ายทำฉากใหญ่ ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียนอนุบาล 10แห่งมาร่วมแข่งขันกับทีม “ดรีมทีม”

อ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน นักแสดงที่เพิ่งร่วมงานกับ เรียว กิตติกร เป็นครั้งแรกเล่าความรู้สึกของการถ่ายทำฉากแข่งขันกีฬาอนุบาลแห่งชาติ

“ถ่ายฉากแข่งขันอลังการมาก เด็กอนุบาลจาก 10 โรงเรียน พันกว่าคนมารวมอยู่ในยิมเนเซียม ตอนแรกเคยนึกในใจว่า หนังมันจะยังไงนะ ถ่ายกันในโรงเรียนอนุบาล มีที่บ้านนิดหน่อย แต่พอมาเห็นฉากใหญ่ โอโอ้พี่!! บึ้มมาก ทำให้บรรยากาศและอารมณ์ร่วมของเด็กเกิดขึ้นกันจริงๆ ที่ตรงนั้น เราสัมผัสได้ว่า ถึงอารมณ์จริงๆ เด็กบางคนถึงกับร้องไห้ บางคนถึงกับไม่ยอมกัน เพราะนึกว่าจริง

เด็กดรีมทีมเวลาแพ้ ก็ปอดกันไปจริงๆ เลย มีเศร้า มีซึมแบบหงอย ๆ กันไป แต่ก็มีน้องเซน 1 ที่คอยบิ๊วท์และปลอบเพื่อน ๆ ในทีมให้กำลังใจกัน เป็นความสดที่น่ารัก เราได้เห็นถึงความตั้งใจของผู้กำกับฯ เลยครับ หนังที่เราเห็นว่าเล็ก ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ มันใหญ่มาก

ฉากแข่งขัน ตอนที่เด็กๆ แข่งชักเย่อกัน เราก็สนุกไปด้วย ดูทีมโน้น ตัวใหญ่จัง ความแตกต่างของแต่ละทีม กองเชียร์แต่ละทีม บางทีมมาเป็นรุ้งเลย บางทีมมาเป็นศาลพระภูมิเลย ความเป็นเด็ก บริสุทธิ์จริงๆ น่ารักมาก”

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น