Home » » สุริโยไท

สุริโยไท



สุริโยไท

หนึ่งวีรสตรี หาญกล้า พลิกหล้า ดับร้อนแผ่นดินเพลิง

เรื่องย่อ สุริโยไท

พระสุริโยไท ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเฑียรราชา เมื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคตในปี พ.ศ. 2072 (ค.ศ. 1529) พระอาทิตยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม หน่อพุทธางกูร ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุยา ประทับอยู่ ณ วังชัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร สวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษ บ้านเมืองบริหารโดยขุนนางผู้ทุจริต ติดสินบนเถลิงอำนาจ 5 เดือนให้หลังพระไชยราชาธิราชจึงเข้ายึดราชบัลลังก์ และได้แต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นอุปราช พระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช และลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา แล้วสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศาธิราช พระเฑียรได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ต่อมาผู้จงรักภักดี ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ระหว่างนั้นพม่ารุกรานไทย เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ความยาว : 185 นาที

 ภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ได้พลิกฟื้นประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงต้น โดยลำดับเหตุการณ์แต่ครั้ง รัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ( พ.ศ. 2034 – พ.ศ. 2072 ) ก่อนมายุติลงตรง มหายุทธสงครามศึก ตะเบงชเวตี้ ( พ.ศ.2091 ) ครอบคลุมระยะเวลารวมแล้ว 57 ปี โดยประมาณ

เหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้นเป็นช่วงสมัยที่ราชอาณาจักรอโยธยา มีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ถึง 2 พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ยังราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดีทรงพระนามว่า พระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพระพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสืบสายสันตติวงศ์มาแต่วงศ์สุพรรณภูมิ

ราชอาณาจักรอโยธยาครั้งนั้น หยัดยืนอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยกำลังของเจ้าราชนิกุลที่สืบสายมาจากราชวงศ์สำคัญ 4 ราชวงศ์ด้วยกัน อันได้แก่ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัยเดิม และราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ที่เคยเป็นใหญ่ในอาณาจักรแดนใต้แห่งคาบสมุทรไทย ถึงแม้ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิจะทรงครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินอโยธยาทั้งเหนือใต้ แต่ความมั่นคงทางอำนาจนั้นยังจำต้องพึ่งพิง กำลังสนับสนุนของเหล่าราชนิกุลที่เหลือ

 ครั้งนั้นแผ่นดินอโยธยาฝ่ายเหนือ อันมีเมืองพระพิษณุโลกเป็นราชธานีปรากฎเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงที่สำคัญอย่างน้อยสองพระองค์ หนึ่งคือ พระสุริโยไท ผู้เป็นพระธิดาของ ออกญาศรีสุรินทร์ อีกผู้หนึ่งคือ ขุนพิเรนทรเทพ เป็นพระญาติพระสุริโยไท มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาแต่มิได้ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เจ้านายสายวงศ์พระร่วงทั้งสองเจริญวัยมาด้วยกัน ครั้นขึ้นวัยแรกรุ่นเป็นหนุ่มสาวต่างก็มีใจปฏิพัทธ์แก่กันฉันท์คนรัก กระนั้นก็ดีพระสุริโยไทหาได้ออกเรือนไปกับขุนพิเรนทรเทพไม่ เพราะพระนางจำต้องอภิเษกสมรสกับ พระเฑียรราชา ผู้รั้งตำแหน่งพระเยาวราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระเฑียรราชาผู้นี้เป็นโอรสในสมเด็จพระอาทิตยาผู้ครองเมืองพระพิษณุโลกอยู่ขณะนั้น การอภิเษกสมรสระหว่างพระสุริโยไทกับพระเฑียรราชาโดยนัยหนึ่งเป็นการกระชับไมตรีทางการเมือง ระหว่างราชนิกุลข้างสุพรรณภูมิ และข้างพระร่วงให้ยั่งยืนมั่นคงขึ้น

เหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มผันแปรเสื่อมถอย เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2072 อันเป็นปีเดียวกันกับที่ดาวหางฮัลเลย์ปรากฎขึ้น การสวรรคตครั้งนั้นเป็นเหตุแห่งการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ กล่าวคือพระอาทิตยาทรงเสด็จจากเมืองพระพิษณุโลกลงมาครองกรุงอโยธยา เถลิงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ส่วนราชธานีฝ่ายเหนือที่ว่างลงนั้นทรงโปรดให้ พระชัยราชา ผู้เป็นราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ขึ้นไปครองแทน ครั้งนั้นพระเฑียรราชาผู้ราชโอรสพระอาทิตยา หรือสมเด็จหน่อพุทธางกูร จำต้องนำพระสุริโยไทโดยเสด็จพระราชบิดาลงมาประทับยังวังชัยในกรุงศรีอยุธยา พระเฑียรราชายังคงรั้งตำแหน่งพระเยาวราชดังเดิม

การสืบมาได้ปรากฎไข้ทรพิษระบาดหนัก เป็นเหตุให้สมเด็จหน่อพุทธางกูรเสร็จสวรรคตเพราะภัยร้ายนั้น บ้านเมืองจึงเกิดเป็นทุรยศ ด้วย พระรัฎฐาธิราชกุมาร พระราชโอรสในสมเด็จหน่อพุทธางกูรผู้สืบราชสมบัติต่อมานั้นมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา เป็นเหตุให้กิจการงานเมืองต้องตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของ เจ้าพระยายมราช ผู้มีศักดิ์เป็นบิดา พระอัครชายา ผู้ให้กำเนิดพระรัฎฐาธิราช เจ้าพระยายมราชเป็นคนคดฉ้อราษฎร์บังหลวงจนไพร่บ้านพลเมืองเดือดร้อนกันไปทั่ว ขณะที่แผ่นดินอยุธยาลุกเป็นไฟนั้น แผ่นดินพุกามประเทศฝ่ายพม่าได้ปรากฎกษัตริย์หนุ่มผู้เข้มแข็งนามว่า ตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่าพระองค์นี้ได้รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยขึ้นเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พระชัยราชาผู้ครองราชธานีฝ่ายเหนือเห็นมิเป็นการจึงนำกำลังแต่เมืองเหนือลงมาปราบยุคเข็ญในพระนครหลวง และปราบดาภิเษกสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่แทนที่พระรัฎฐาธิราช ซึ่งถูกสำเร็จโทษไปด้วยเพราะพระชัยราชามิทรงประสงค์จะละไว้ให้เป็นเสี้ยนหนาม ถึงแม้ราชอาณาจักรอยุธยาจะมีอันผลัดเปลี่ยนแผ่นดินติดต่อกันมาถึง 4 รัชกาล แต่อำนาจนั้นก็ยังคงตกอยู่กับเจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิดังเดิม

สมเด็จพระชัยราชาธิราช เจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ในรัชกาลของพระองค์ได้ทรงทำศึกมีชัยเหนือพม่าที่เมืองเชียงกราน อันเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาอโยธยาด้านฝั่งตะวันตก พระองค์ยังทรงนำทัพขึ้นไปรบถึงเมืองเชียงใหม่ ขณะเมื่อพระองค์ทรงออกรบไปในแดนต่างๆ นั้น จะทรงสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นที่อุปราชดูแลราชการแผ่นดินอโยธยาต่างพระเนตรพระกรรณเสมอมา

ต่อมาพระชัยราชาธิราชทรงได้เจ้านายข้างวงศ์อู่ทองมาเป็นพระสนมเอก มีพระนามปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้นี้ไม่เพียงถือโอกาสในคราวที่พระสวามีติดศึกต่างแดนลอบมีสัมพันธ์สวาทกับ พันบุตรศรีเทพ ผู้เป็นบุตรเจ้าเมืองศรีเทพซึ่งเป็นเจ้านายสายอู่ทอง พระนางยังคบคิดกับชู้รักซึ่งภายหลังได้รับอวยยศขึ้นเป็น ขุนชินราช ลอบวางยาพิษพระชัยราชาธิราช ด้วยมุ่งหวังจะชิงบัลลังก์อโยธยาคืนมาจากเจ้านายสายสุพรรณภูมิ

ท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนชินราชยังลอบวางยาพิษ พระยอดฟ้า พระราชโอรสในพระชัยราชาธิราช ภายหลังจากที่พระองค์เสวยราชสมบัติ สืบต่อจากพระราชบิดาได้ไม่ทันนาน (ไม่เกิน2 ขวบปี , พ.ศ.2089-พ.ศ.2091) ท้ายที่สุดท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยา เถลิงพระนามว่า ขุนวรวงศาธิราช นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งสายราชนิกุลอู่ทองที่ได้กลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ได้สูญเสียอำนาจให้กับเจ้านายฝ่ายสุพรรณภูมิไปเนิ่นนานปี

ในช่วงการผลัดเปลี่ยนอำนาจนับแต่พระชัยราชาธิราชถูกลอบปลงพระชนม์ พระเฑียรราชาผู้รั้งตำแหน่งอุปราชและผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จำต้องหลบลี้ราชภัยด้วยการออกบวช ข้างพระสุริโยไทนั้นไม่เพียงต้องคอยระแวดระวังภัยให้พระสวามี พระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งต่างยังทรงประทับอยู่ในวังชัย แต่ยังทรงพยายามคิดการโค่นล้มอำนาจขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นการลับเพื่อพลิกฟื้นบ้านเมืองให้กลับคืนเป็นปกติสุขตามเดิม พระนางได้ลอบติดต่อขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งพระนางเคยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดมาแต่วัยเยาว์ จนท้ายที่สุดสามารถเหนี่ยวรั้งให้ขุนพิเรนทรเทพรวมกำลังพลฝ่ายเหนือ สมทบกับ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และ หลวงศรียศ โค่นอำนาจขุนวรวงศาลงได้สำเร็จ คณะผู้ก่อการได้ร่วมกันสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยา เถลิง พระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นเหตุให้อำนาจหวนกลับมาตกอยู่ในมือเจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกครั้งหนึ่ง

ข่าวการแย่งชิงอำนาจกันภายในราชอาณาจักรอโยธยา ล่วงรู้ไปถึงหูพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ซึ่งขณะนั้นได้ทรงรวบรวมแผ่นดินพุกามขึ้นเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว และได้ย้ายราชธานีจากเมืองตองอูลงมาประทับยังกรุงหงสาวดีซึ่งเป็นราชธานีเดิมของกษัตริย์มอญ พระเจ้าตะเบงชเวตี้เห็นได้จังหวะเหมาะจึงรวบรวมไพล่พลเมืองตองอู เมืองแปร เมืองหงสาวดีและหัวเมืองมอญน้อยใหญ่ ผสมทหารโปรตุเกสผู้ชำนาญการใช้ปืนไฟ จัดเป็นกองทัพใหญ่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จนสามารถนำกำลังเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้สำเร็จ

ศึกพม่ารามัญครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงนำกำลังออกปะทะพม่า จนรบกันเป็นโกลาหลในทุ่งมะขามหย่อง กษัตริย์อโยธยาทรงกระทำคชยุทธด้วยตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปร ครั้งนั้นช้างพระที่นั่งเสียหลักหันหลังหนีช้างข้าศึก พระสุริโยไททรงมีพระกตัญญูภาพขับพระคชาธารพลายทรงตะวันเข้าขวางช้าง พระเจ้าแปร และทรงต่อรบป้องกันพระสวามีจนสิ้นพระชนม์ ภาพยนตร์ได้มายุติลงตรงเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งนั้นในประวัติศาสตร์

ภาพยนตร์สุริโยไทไม่เพียงมุ่งชี้ชัดถึงพิบัติภัยอันเกิดแต่การแตกสามัคคีในหมู่คนไทย แต่ยังได้เปิดมิติประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงบทบาทของสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ชายในการขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดเหตุพลิกผันผลัดแผ่นดินไปจนถึงการพลีชีพกลางสมรภูมิศึกเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชของราชอาณาจักร

ฉบับสมบูรณ์ ๕ ชั่วโมง

สุริโยทัย ฉบับสมบูรณ์ ๕ ชั่วโมง

เพิ่มฉากและเหตุการณ์สำคัญที่ไม่มีในโรงภาพยนตร์มากกว่า ๑๐ ฉาก

อาทิ ฉากพระสุริโยไทสละพระชนม์ชีพช่วยพระมหาจักรพรรดิ์ ทำให้ไม่เสียกรุงศรีอยุธยา (ถ่ายทำใหม่), ฉากพระราชพิธีพระเพลิงศพยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ (ถ่ายทำใหม่), ฉากเบื้องลึกเบื้องหลังความร้ายกาจของท้าวศรีสุดาจันทร์ที่คิดกบฏต่อผู้มีพระคุณ, ฉากยุทธวิธีวางแผนแย่งชิงบัลลังก์ที่ดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น และอีกมากมายที่หาดูไม่ได้จากฉบับเดิม

พระสุริโยไท (รับบทวัยรุ่นโดย พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) ทรงเจ้านายฝ่ายเหนือราชวงศ์พระร่วง ตั้งแต่พระชนมายุ ๑๕ พรรษา ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเยาวราช จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือ พระเฑียรราชา (รับบทวัยรุ่นโดย วิทยา โกมลฐิติกานต์) โอรสขององค์อุปราช พระอาทิตยา (สุเชาว์ พงษ์วิไล) กับพระสนม ซึ่งครองเมืองพิษณุโลกอยู่ในเวลานั้น

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พิศาล อัครเศรณี) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ (ค.ศ. ๑๕๒๙) ซึ่งเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์ปรากฏ พระอาทิตยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม หน่อพุทธางกูร ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุยาเมืองหลวง พระเฑียรราชา (รับบทวัยหนุ่มโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) และ พระสุริโยไท (รับบทวัยสาวโดย คุณหญิง ม.ล. ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี) มีโอรสธิดาทั้งสิ้น ๕ พระองค์ คือ พระราเมศวร (เกียรติศักดิ์ ศักดานุภาพ), พระมหินทร (อภิญญ์ รัชตะหิรัญ), พระบรมดิลก (ชมพูนุท เศวตวงศ์), พระสวัสดิราช (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) และ พระเทพกษัตรี (จีระนันท์ กิจประสาน) ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ พระไชยราชา (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ควรจะได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ แต่หน่อพุทธางกูรทรงขอให้ รัฏฐาธิราชกุมาร (ด.ช. ลูคัส อดัม บุญธนากิจ) พระโอรสวัย ๕ พรรษา อันเกิดแต่พระอัครชายา (วรรณษา ทองวิเศษ) วัย ๑๗ พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทน ระหว่างนั้น บ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางผู้ทุจริต ติดสินบนเถลิงอำนาจ โดยเฉพาะ เจ้าพระยายมราช (มีศักดิ์ นาครัตน์) บิดาของพระอัครชายา

พระไชยราชาจึงให้สำเร็จโทษพระรัฏฐาธิราช ตามราชประเพณีโบราณ และได้ขึ้นครองราชย์ แผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทรงออกรบปราบหัวเมืองอยู่เนืองๆ และได้แต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นอุปราช ว่าราชการแทนพระองค์ อยู่ที่กรุงอโยธยา ส่วนพระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ใหม่ เจริญปุระ) ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช (จอนนี่ แอนโฟเน่) ผู้ดูแลหอพระ เชื้อราชวงศ์อู่ทองด้วยกัน และได้สมคบคิดกัน ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า (ด.ช. ปรมัติ ธรรมมล) พระโอรสของพระไชยราชา ที่ประสูติจาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (สินจัย เปล่งพานิช) ได้ขึ้นครองราชย์แทน ในขณะที่มีพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษา แต่ต่อมาไม่นาน ก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศา

นับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระไชยราชา พระเฑียรราชาก็ได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์เงียบๆ ในวัง โดยมีผู้จงรักภักดี คือ ขุนพิเรนทรเทพ (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ขุนอินทรเทพ (อำพล ลำพูน) หมื่นราชเสน่หานอกราชการ (สรพงษ์ ชาตรี) หลวงศรียศ (ศุภกร กิจสุวรรณ) เฝ้าคุ้มกันภัยให้ ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า พระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ – ๒๑๑๑ / ค.ศ. ๑๕๔๘ – ๑๕๖๘)

ระหว่างนั้นทางพม่า ประเทศเพื่อนบ้านได้รวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่น แผ่ขยายอำนาจรุกรานไทยภายใต้พระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า ตะเบงชเวตี้ (ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์) และได้เดินทัพมายังอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี ที่ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

เรื่องจบลงด้วยสงครามยุทธหัตถี อันเป็นเรื่องราวความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและความตายของวีรกษัตรีย์ “สุริโยไท” ที่พลีชีพเพื่อรักษาแผ่นดินไทย

นักแสดง

นักแสดง:

 ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี สมเด็จพระสุริโยทัย 
สิริวิมล เจริญปุระ ท้าวศรีสุดาจันทร์ 


ศรัณยู วงศ์กระจ่าง

 สมเด็จพระเฑียรราชา 
ฉัตรชัย เปล่งพานิช ขุนพิเรนทรเทพ 
จอนนี่ แอนโฟเน่ พันบุตรศรีเทพ 
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง สมเด็จพระชัยราชาธิราช 

สรพงศ์ ชาตรี, สินจัย เปล่งพานิช, อำพล ลำพูน, ศุกกรณ์ กิจสุวรรณ, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, วรรณษา ทองวิเศษ, รณฤทธิชัย คานเขต, สหรัถ สังคปรีชา, วรุฒ วรธรรม, ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์, สมบัติ เมทะนี, เอกพัน บรรลือฤทธิ์, สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์, มานพ อัศวเทพ, กรุง ศรีวิไล, อดิเทพ ชดช้อย, สุเชาว์ พงษ์วิไล, อรัญญา นามวงศ์, นัยนา จันทร์เรือง, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, จิระวดี อิศรางกูรฯ, ญาณี ตราโมท, มีศักดิ์ นาครัตน์, พิศาล อัตรเศรณี, ทาริกา ธิดาทิตย์, ปวีณา หงสกุล, พิศมัย วิไลศักดิ์, สุรชัย จันทิมาธร, ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ, ดำรง พุฒตาล, นาถ ภูวนัย, จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี, มารศรี อิศรางกูรฯ, อรสา อิศรางกูรฯ, ผจญ ดวงขจร, ไพโรจน์ ใจสิงห์, ครรชิต ขวัญประชา, สรนันทร์ ร.เอกวัฒน์, วิโรจน์ ตั้งวานิช, อำพัน เจริญสุข, สีเทา เพ็ชรเจริญ, โกร่ง กางเกงแดง, สวง ทรัพย์สำรวย, บุญส่ง ดวงดารา, นภาพร หงสกุล, พรพิมล รักธรรม, เขมสรณ์ หนูขาว, ฝนพา สาทิสสะรัต, ไกรลาศ เกรียงไกร, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, เขาทราย กาแลคซี่, เมืองชัย กิตติเกษม, แรม วรธรรม, ยอดชาย เมฆสุรรณ, เกียรติศักดิ์ ศักดานุภาพ, อภิญญ์ รัชตะหิรัญ, พิมลรัตน์ พิศลยบุตร, ชมพูนุท เศวตวงศ์, จีระนันท์ กิจประสาน, วิทยา โกมลฐิติกานต์, สรณัฎฐ์ ฉัตรวิบูรณ์, รุษยา เกิดฉาย, ไกร ครรชิต, ลูคัส อดัม บุญธนากิจ, ปรมัติ ธรรมมล, จีรวัฒน์ จันทร์สมบูรณ์, กังวาล รุ่งเรือง

ทีมงาน

ผู้อำนวยการสร้าง : หม่อมกมลา ยุคล
ตัดต่อ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล
ผู้กำกับกอง 2 : เปี๊ยก โปสเตอร์
ผู้ช่วยผู้กำกับ : สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, ปิยะลักษณ์ มหาธนทรัพย์
คัดเลือกนักแสดง : อรชุมา ยุทธวงศ์
ผู้กำกับภาพ : Igor Luther, Stanislav Dorsic
ผู้จัดการกองถ่าย : คุณากร เศรษฐี
ผู้เขียนบท : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้ให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ : .ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
ผู้ออกแบบฉาก : ประสพโชค ธนะเศรษฐวิไล
ผู้กำกับศิลป์ : เจษฎา ผันอากาศ, ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน
ผู้กำกับดนตรี : Richard Harvey
แผนกเสื้อผ้า : ฐิติกรณ์ ศรีชื่น, สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์
ผู้บันทึกเสียง : Conrad Bradley Slater
เทคนิคพิเศษ : The Fame Post Production Co., Ltd.
แต่งหน้า & ออกแบบทรงผม : มนตรี วัดละเอียด

Share this article :

แสดงความคิดเห็น