Home » » หนีตามกาลิเลโอ

หนีตามกาลิเลโอ


หนีตามกาลิเลโอ

ชื่อภาษาอังกฤษ : Dear Galileo

เรื่องย่อ หนีตามกาลิเลโอ
ปลายศตวรรษที่ 16 เมืองปิซา ประเทศอิตาลี กาลิเลโอ ประกาศผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเขาว่า วัตถุ 2 ชิ้นที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบขึ้นด้วยมวลสารเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แม้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน อีกทั้งยังประกาศความเชื่อว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล การปฏิบัติตัวขัดแย้งกับศาสนจักรเช่นนี้ ทำให้ กาลิเลโอ ถูกจับขัง สิ้นสูญอิสรภาพ และชีวิตก็ตกระกำลำบากนับจากนั้น

ปี 2009 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ห่างจากที่เกิดเหตุแรก 1/4 เส้นรอบวงโลก เด็กสาว 2 คนกำลังประสบปัญหาหนักหน่วงที่สุดในชีวิต เชอรี่ (ชุติมา ทีปะนาถ) นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ถูกตัดสิทธิ์สอบและต้องพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี ด้วยความผิดที่เจ้าตัวเห็นว่าเล็กน้อย นั่นคือปลอมลายเซ็นอาจารย์ในใบขออนุญาตใช้ห้องเขียนแบบ

นุ่น (จรินทร์พร จุนเกียรติ) สาวร่าเริงแสนงอน เคยท้าเลิกกับแฟนหนุ่ม ตั้ม (ธนากร ชินกูล) มาแล้วหลายครั้ง ทว่า ตั้ม เป็นต้องงอนง้อขอคืนดีกับเธออยู่ร่ำไป แต่ครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง ตั้ม ตัดสินใจรับคำบอกเลิกของเธอแต่โดยดี ทั้ง นุ่น และ เชอรี่ ต่างรู้สึกอยากหนีไปให้ไกลจากสถานที่เกิดปัญหา จึงจูงมือกันบินข้ามหลายเส้นรุ้งและอีกหลายเส้นแวง ปลดแอกตัวเองจากแรงดึงดูดของชีวิตทันที

แผนของทั้งคู่นั้นแสนง่าย มุ่งมั่นทำงานบริกร เพื่อเก็บเงินไปท่องเที่ยวให้มากที่สุด เป้าหมายของพวกเธอคือ 3 เมืองใหญ่แห่งยุโรปอย่าง ลอนดอน ปารีส และเวนิส สถานที่สำคัญๆ ถูกหมุดหมายลงในใจของสองสาว ไม่ว่าจะเป็นสโตนเฮนจ์ ทาวเวอร์บริดจ์ หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ โคลอสเซียม เรือกอนโดลา และ หอเอนปิซา

ก่อนออกเดินทาง ทั้งคู่ทำสัญญาใจกันไว้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ห้ามทิ้งกัน อย่างไรก็ตาม ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องคาดไม่ถึงสารพัด บางครั้งคำสัญญาเป็นมั่นเหมาะก็ถูกสั่นคลอนเสียง่ายๆ เมื่อเจ้าของคำสัญญาอ่อนล้าจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน และบางทีมิตรภาพยาวนานก็แทบถึงกาลแตกหัก ด้วยเหตุผลที่เหมือนจะไม่เป็นเหตุผลว่าเบื่อขี้หน้ากัน

นุ่น ยังคาดไม่ถึงอีกด้วยว่า เธอหนี ตั้ม คนหนึ่งไปไกลถึง 1/4 ของโลก เพียงเพื่อจะไปพบความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับอีก ตั้ม (เร แมคโดนัลด์) ส่วน เชอรี่ ก็คาดไม่ถึงว่าความตั้งใจที่จะออกเดินทางให้หลุดพ้นจากกฎโง่ๆ ของโลก กลับทำให้เธอเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน ทุกคนต่างอยู่บนกฎพื้นฐานข้อเดียวกัน นั่นคือเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เช่นเดียวกับที่โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล

ทีมงานสร้าง: ฟิลกู๊ด-ดราม่า (แนวภาพยนตร์) / จีทีเอช (บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย) / จอกว้างฟิล์ม (บริษัทดำเนินงานสร้าง) / ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, บุษบา ดาวเรือง, วิสูตร พูลวรลักษณ์, จินา โอสถศิลป์ (อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร) / จิระ มะลิกุล, วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์, เช่นชนนี สุนทรศารทูล, สุวิมล เตชะสุปินัน (อำนวยการสร้าง) / ปรานต์ ธาดาวิรวัตร (ประสานงานสร้าง) / นิธิวัฒน์ ธราธร (ผู้กำกับภาพยนตร์) / โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล, นิธิวัฒน์ ธราธร (บทภาพยนตร์) / วีรชัย ใหญ่กว่าวงศ์, นนตรา คุ้มวงศ์ (ผู้ช่วยผู้กำกับ) / นฤพล โชคคณาพิทักษ์ (กำกับภาพ) / วิชชพัชร์ โกจิ๋ว (ลำดับภาพ) / อนันต์ นุชวงษ์ (ออกแบบงานสร้าง) / สุธี เหมือนวาจา (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / หัวลำโพง ริดดิม (ดนตรีประกอบ) / รจเรข ลือโรจน์วงศ์, นนตรา คุ้มวงศ์ (คัดเลือกนักแสดง) / คมกฤษ ตรีวิมล (ฝึกสอนการแสดง)

นักแสดง
ชุติมา ทีปะนาถ     เชอรี่
จรินทร์พร จุนเกียรติ    นุ่น
เร แมคโดนัลด์    ตั้ม
ธนากร ชินกูล         ตั้ม (แฟนเก่าของนุ่น)
วงศกร รัศมิทัต    พ่อของเชอรี่
ชำนิ ทิพย์มณี         พี่ทอม  

ที่มา : บริษัทผู้สร้าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ภาพยนตร์

เมื่อปล่อยผู้หญิงสอบตกกับอกหักให้อยู่ด้วยกัน พวกเธอจะหนีไปพร้อมกัน

เคยมีสักครั้งมั้ย?

เมื่อคุณสอบตก อกหัก หรือผิดหวังครั้งหนักๆ ในชีวิต

แล้วรู้สึกอยากจะหนี ไปให้พ้นจากสภาพเดิมๆ

วัยรุ่นสาวไทยขี้หนาว 2 คนนี้ จับมือกันหนีเมืองไทยไปย่ำโลกเล่น…ไกลแสนไกล

คนหนึ่งหนีเรียน คนหนึ่งหนีรัก

ข้ามขอบฟ้า อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี

หนีไป เสิร์ฟไป เที่ยวไป – ลอนดอน ปารีส เวนิซ

ทริปสุดขั้วเริ่มต้นขึ้น บนคำสัญญาว่า จะไม่ทิ้งกัน

กับ ภาพยนตร์ที่อยากให้คุณได้ลองหนี…สักครั้งในชีวิต

หนีตามกาลิเลโอ (Dear Galileo)

ภาพยนตร์ว่าด้วยสามความสัมพันธ์ระหว่าง

วัยรุ่นสาวไทย – กฎของโลก – กาลิเลโอ

โดย นิธิวัฒน์ ธราธร (ผู้กำกับ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย)

 ปลายศตวรรษที่ 16 เมืองปิซ่า ประเทศอิตาลี

กาลิเอโอ กาลิเลอิ นักคิด / นักวิทยาศาสตร์ / นักดาราศาสตร์หนุ่มไฟแรงแห่งยุคสมัย ทำการทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ด้วยการโยนลูกบอลไม้จากยอดหอเอนปิซ่าต่อหน้าสาธารณะ

ผลการทดลองครั้งนั้น กาลิเลโอได้ข้อสรุปว่า วัตถุ 2 ชิ้น ที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบขึ้นด้วยมวลสารเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แม้ว่าจะมีน้ำหนักไม่เท่ากันก็ตาม

ข้อสรุปของกาลิเลโอขัดแย้งกับแนวคิดของศาสนจักร ส่งผลให้กาลิเลโอถูกหมายหัวว่าเป็นพวก “จอมขบถ” ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลายปีต่อมา กาลิเลโอ “งานเข้า” อีกครั้ง เพราะดันไปประกาศตัวสนับสนุนแนวคิด “โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล” เป็นอีกครั้งที่ข้อสรุปของกาลิเลโอขัดแย้งกับสิ่งที่ศาสนจักรปรารถนาจะให้ใครๆ เชื่อ

และครั้งนี้ ศาสนจักรก็เห็นควรต้องจัดการหมอนี่ขั้นเด็ดขาด กาลิเลโอถูกจับขัง สิ้นสูญอิสรภาพ และชีวิตก็ตกระกำลำบาก หาความสะดวกสบายไม่ได้นับจากนั้น

ปี 2009 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ห่างจากที่เกิดเหตุแรก ¼ เส้นรอบวงโลก

เด็กสาว 2 คนกำลังประสบปัญหาชีวิตรุนแรงหนักหน่วงที่สุดในชีวิต

เชอรี่ นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ถูกตัดสิทธิ์สอบและสั่งพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปีด้วยความผิด – ที่เจ้าตัวเห็นว่า – เล็กน้อย นั่นคือ การปลอมลายเซ็นต์อาจารย์ในใบขออนุญาตใช้ห้องเขียนแบบ

“ก็แค่แบบฟอร์มโง่ๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” เชอรี่ว่า

แต่ไม่ว่าเธอจะว่าอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลการลงโทษที่เธอได้รับ

เชอรี่ต้องเรียนจบช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ และโอกาสที่จะทำงานหาเงินให้พ่อภาคภูมิใจ ก็ต้องถูกขยับร่นลงไปนานถึง 1 ปี

นุ่น หญิงสาวร่าเริง น่ารัก แสนงอน ก่อนหน้านี้ท้าเลิกกับ ตั้ม แฟนหนุ่ม มาแล้วหลายครั้ง ทว่าลงท้าย ตั้มเป็นต้องงอนง้อ ไม่เคยยอมเลิกกับเธอเลยสักครั้ง

อย่างไรก็ตาม กับครั้งนี้ ทุกอย่างแตกต่างออกไป

“เพราะฉันถามว่า ‘เลิกกันไหม’ แล้วไอ้ตั้มบอกว่า ‘เออ’ “

“ไม่รงไม่เรียนมันแล้ว!” เชอรี่ตะโกนก้องแบบฉุนขาด

“มีไอ้ตั้มที่ไหน ไม่มีนุ่นที่นั่น!” นุ่นเอาบ้าง

สองสาวตัดสินใจหนีให้ไกลจากสถานที่เกิดเหตุของปัญหา จูงมือกันมุ่งหน้าสู่ยุโรป บินข้ามหลายเส้นรุ้งและอีกหลายเส้นแวง ปลดแอกตัวเองจากแรงดึงดูดของโลกทันที

แผนของทั้งคู่นั้นแสนง่าย ลงคอร์สภาษา (บังหน้า) – เสิร์ฟ เสิร์ฟ เสิร์ฟ – เก็บตังค์ เก็บตังค์ เก็บตังค์ – เที่ยว เที่ยว เที่ยว

เป้าหมาย คือ บิ๊กธรีแห่งยุโรป ลอนดอน – ปารีส – เวนิซ

สโตนเฮนจ์, ทาวเวอร์ บริดจ์, หอไอเฟล, พิพิธภัณธ์ลูฟร์, โคลอสเซียม, เรือกอนโดล่า, หอเอนปิซ่าแลนมาร์คสำคัญๆ ของโลกถูกหมุดหมายลงในใจของทั้งเชอรี่และนุ่น

ก่อนออกเดินทาง ทั้งคู่จับมือจับไม้ ทำสัญญาใจกัน

กฎข้อหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห้ามทิ้งกัน

กฎข้อสอง ห้ามแหกกฎข้อแรกเด็ดขาด!

อย่างไรก็ตาม ลงท้ายมันก็เป็นอย่างที่เขาว่ากัน – ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่อง “เซอร์ไพร้ส์” คาดไม่ถึงสารพัด

เชอรี่และนุ่น คาดไม่ถึงหรอกว่า บางครั้ง คำสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะก็ถูกสั่นคลอนเสียง่ายๆ เมื่อเจ้าของคำสัญญาเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน

พวกเธอคาดไม่ถึงหรอกว่า บางทีมิตรภาพยาวนานก็แทบจะถึงกาลแตกหักล่มสลายด้วยเหตุผลที่เหมือนจะไม่เป็นเหตุผลว่า “กูเบื่อขี้หน้ามึง!”

และนุ่นคาดไม่ถึงหรอกว่า เธอหนี “ตั้ม” คนหนึ่งไปไกลถึง ¼ โลก เพียงเพื่อจะไปพบความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ “อีกตั้มหนึ่ง”

เช่นกัน เชอรี่ก็คาดไม่ถึง ว่าความตั้งใจเดิมที่ออกเดินทางเพื่อพาตัวเองหลุดพ้นจากกฎโง่ๆ ทั้งหลายของโลกครั้งนี้ ที่สุดแล้วจะนำพาเธอไปแล่นลงจอด ณ ปลายทางของการเรียนรู้ว่า

ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน เธอและใครๆ ต่างต้องอยู่บนกฎพื้นฐานข้อเดียวกันว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เช่นเดียวกับที่ โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลอย่างที่กาลิเลโอว่าไว้

วัยรุ่นสาวไทย – กฎของโลก – กาลิเลโอ

…สามสิ่งต่อไปนี้มาเกี่ยวข้องกันได้ยังไงในภาพยนตร์ Made in Europe ของผู้กำกับ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย – นิธิวัฒน์ ธราธร

…ตอบว่าเพราะมันเกี่ยวกับสามสิ่งที่นิธิวัฒน์ฝังใจ

…วัยรุ่นสาวไทย – หลังจาก Seasons Change ทำให้ใครๆ หลงรัก “อ้อม” กับ “ดาว” กันทั้งประเทศ นิธิวัฒน์ จึงขอยืนยันทำหนังวัยใสที่มีนางเอกสองคนต่อไป เพื่อความสดชื่นในหัวใจ

…กฎของโลก – นิธิวัฒน์จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่เกือบไม่ได้รับปริญญา เพราะทะเลาะกับอาจารย์ เขาโมโหแทบบ้าและคิดว่าโทษที่ได้รับงี่เง่าสุดๆ

…กาลิเลโอ – ผู้ประกาศทฤษฎีโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

…คนเราเวลาฝังใจอะไรมากๆ ก็ต้องระบายออก และเมื่อคนฝังใจเป็นผู้กำกับ

…วัยรุ่นสาวไทย – กฎของโลก – กาลิเลโอ จึงกลายเป็นสามแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้

ผู้กำกับ

นิธิวัฒน์ ธราธร : ผู้กำกับ

เผชิญโลก ผจญภัย ทำความเข้าใจชีวิต

– ผมอยากทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องของชีวิตคนไทยในต่างแดนมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนทำ Seasons Change อีก แต่ตอนนั้นด้วยความไม่พร้อมของอะไรหลายๆอย่าง โปรเจ็กต์นี้จึงไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง จนกระทั่งทำ Seasons Change เสร็จ ผมกำลังมองหาไอเดียสำหรับหนังเรื่องใหม่ ก็บังเอิญได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง คือ คุณโสภณา (ผู้ร่วมเขียนบท) ซึ่งก็เคยผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตไกลบ้านมาบ้างเหมือนกัน แล้วเราก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันอีกครั้ง เราเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มันมีแง่มุมหลายอย่างที่สนุกและน่าสนใจพอที่จะหยิบมาปั้นเป็นหนังได้ ผมก็เลยลองไปเกริ่นกับ พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ดู พี่เก้งก็บอกว่า ให้ลองพัฒนาเรื่องมา ถ้าเรื่องมันน่าสนใจ โปรเจ็กต์นี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เมื่อพี่เก้งเปิดช่องมาแบบนี้ เราก็เลยกลับไปสุมหัวเขียนเรื่องกัน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ คุยกันว่ามีเรื่องไหนที่เราสนใจ มีประเด็นไหนที่เราอยากพูดถึง จนท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า เราจะเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งหนีเรียน คนหนึ่งหนีรัก และพากันไปเผชิญโลก ผจญภัย ทำความเข้าใจชีวิต ที่เมืองท็อป 3 ของยุโรป คือ ลอนดอน ปารีส และ เวนิซ

“กาลิเลโอ”…เหอว่าไงนะ?

– เป็นคำถามที่เจอบ่อยมาก เวลาบอกใครๆ ว่าหนังเรื่องใหม่ชื่อ หนีตามกาลิเลโอ (Dear Galileo) คนจะทำหน้างงๆ แล้วถามว่า “พูดไรอ่ะ?” ตอบอย่างรวบรัดก็คือ มีผลงาน 2 อย่างของ กาลิเลโอ ที่เราหยิบมาใช้เพื่อบอกเล่าประเด็นของหนัง

– หนึ่ง การทดลองที่หอเอนปิซ่า ซึ่งทำให้กาลิเลโอสรุปเป็นทฤษฎีออกมาว่า วัตถุ 2 อันที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบด้วยมวลชนิดเดียวกัน แม้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน แต่มันจะตกถึงพื้นพร้อมกัน

– สอง ครั้งหนึ่งกาลิเลโอทำการศึกษาค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ จนท้ายที่สุดกล้าประกาศตัวยืนยันสมมติฐานของโคเปอร์นิคัส ว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลก ซึ่งส่งผลให้กาลิเลโอต้องมีชีวิตที่ตกระกำลำบากมากมายหลังจากนั้น

นักแสดง

เม้าท์นักแสดง

– พูดรวมๆ เหตุผลที่เลือก ต่าย เต้ย และ เร ก็เพราะทั้งสามมีบุคลิกส่วนตัวตรงกับตัวละครในเรื่องทั้งหมด ต่ายเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง ซึ่งใช่เชอรี่เลย เต้ยก็สดใส ร่าเริง น่ารัก มีเสน่ห์ ซึ่งก็ตรงกับบทของนุ่น ส่วนเร เขามีภาพของการเป็นคนเดินทาง เป็นคนที่เคยผ่านการใช้ชีวิตเมืองนอกมาเยอะ มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะแปลก ไม่เหมือนใคร และเป็นขบถหน่อยๆ บทตั้มต้องการคนแบบนี้

– ที่อาจจะทำให้ไม่แน่ใจอยู่บ้างในระยะแรก คือ เรื่องของวัย เพราะทั้ง 3 คนวัยต่างกันหมด ต่ายอายุมากกว่าเต้ย และเรก็ห่างกับเต้ยพอสมควร แต่พอลองจับมาเล่นด้วยกัน ผลปรากฏว่า ต่ายกับเต้ยดูเป็นเพื่อนกันได้สบายๆ เลย เคมีของสองคนนี้เข้ากันได้ดีมาก ส่วนเร ตามบทตั้มจะต้องอายุมากกว่านุ่นอยู่แล้ว เพียงแต่ทีแรกผมคิดไว้ว่าตั้มน่าจะประมาณ 26-27 ไม่ได้คิดว่าจะเลยไปถึง 30 อย่างไรก็ตาม พอให้เรมาจับคู่กับเต้ยจริงๆ ผมพบว่าเรทำให้ตัวละครของตั้มมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น มีมิติมากขึ้น และมีความน่าสนใจในมุมใหม่ๆ ซึ่งผมไม่เคยคาดหมายมาก่อน

นักแสดงรับเชิญ: 3 คน 3 วัย ไม่ธรรมดา

– เรื่องนี้เราได้นักแสดงรับเชิญพิเศษ 3 คน หนึ่งคือ โบ ธนากร ชินกูล โบมาเล่นเป็นแฟนเก่าของนุ่น ที่เลือกโบเพราะหน้าตาเขาดูเป็นคนใจเย็น น่ารัก ไม่โกรธใคร บทนี้ต้องการคนที่มีบุคลิกแบบนี้ อีกอย่าง โดยส่วนตัวโบก็เป็นคนน่ารัก นิสัยดี ทำงานด้วยง่าย ตอนชวนมาเล่น ผมบังเอิญเจอโบแล้วก็ชวนตรงนั้นเลย ซึ่งโบก็ตอบตกลงตรงนั้นทันทีเหมือนกัน

– คนต่อมา พี่ต้น แม็คอินทอช เคยทำงานด้วยกันตอน “แฟนฉัน” พี่ต้นเป็นผู้ใหญ่ใจดี นิสัยดีมาก ทำงานด้วยแล้วสบายใจ เรื่องนี้พี่ต้นมาเล่นเป็นพ่อเชอรี่ เป็นพ่อประเภทที่ไม่แสดงออกเยอะ แต่มีบางอย่างทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเขารักลูกมาก ซึ่งผมเชื่อว่าพี่ต้นสามารถทำให้เราเชื่อว่าเขาเป็นพ่อแบบนี้ได้

– คนสุดท้าย น้าชำ ชำนิ ทิพย์มณี ช่างภาพรุ่นใหญ่ เจ้าของสตูดิโอ Chamni’s Eye น้าชำมาเล่นเป็น พี่ทอม เป็นคนที่เดินทางจากบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดไปทำงาน แสวงหาโอกาสให้ชีวิตที่ลอนดอน ตามบทตัวละครตัวนี้จะให้บทเรียนบางอย่างกับเชอรี่ ทำให้เชอรี่รู้ว่า ชีวิตเมืองนอกมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่เธอเคยคิด เราหาคนมาเล่นเป็นพี่ทอม อยู่นานมาก แคสต์ไปหลายคน แต่ไม่ได้สักที จนวันหนึ่งพี่เก้งก็แนะนำน้าชำขึ้นมา พี่เก้งบอกว่า ตัวจริงของน้าชำเหมือนกับพี่ทอมมาก คือ พื้นเพแกเป็นคนใต้ วันหนึ่งสนใจการถ่ายภาพ ก็หอบข้าวของไปใช้ชีวิตที่อิตาลีดื้อๆ ไปคนเดียว ดิ้นรน ทำงาน เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง จริงๆ น้าชำไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน แต่ด้วยความที่แกเคยผ่านชีวิตแบบเดียวกับพี่ทอมจริงๆ เวลาแกเล่นก็เลยมีแมจิกบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าแกคือตัวละครตัวนี้จริงๆ ที่พิเศษคือ ด้วยความที่น้าชำเป็นช่างภาพที่เก๋ามาก เราก็เลยให้แกมาถ่ายโปสเตอร์ให้หนังเรื่องนี้ด้วย

กฎเหล็กกาลิเลโอ: ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามตาย!

– ทีมงานตัวหลักๆ เรามี 13 คน รวมนักแสดงด้วยเป็น 15 ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับกองถ่ายทั่วไป แต่มันเหมาะกับหนังเรื่องนี้ เพราะมันทำให้เรามีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น แต่โอเค นั่นก็ต้องแลกกับการที่ทุกคนจะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมด้วย งานทั้งหมดต้องถูกจับมากองไว้แล้วกระจายออก คนหนึ่งคนจะต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่สามารถคิดได้แล้วว่า อันนี้งานผม อันนี้งานคุณ แต่ทุกคนต้องช่วยกันทั้งหมด

– ก่อนออกเดินทางเราคุยกันเยอะมาก คุยกันละเอียดว่าเราจะแบ่งงานกันยังไง เวลาออกกองใครจะต้องอยู่ตรงไหน ใครจะต้องทำอะไร เพราะเรารู้ว่าการทำงานเมืองนอกมันไม่ง่าย ทุกอย่างต้องเป๊ะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่เมืองไทย เราอยากถ่ายตรงนี้ เราติดต่อขอกั้นถนนได้สบาย แต่ที่โน่นเราทำอย่างนั้นไม่ได้ แค่จะกั้นคนไม่ให้เดินผ่านยังแทบไม่ได้เลย

– ก่อนถ่ายหลายเดือน เราพาทีมงานส่วนหนึ่งไปสำรวจสถานที่ก่อน เลือกโลเคชั่น วางแผนในหัวคร่าวๆ ว่าที่ไหนจะถ่ายยังไง จากนั้นเราก็หาคนที่โน่นที่จะมาทำหน้าที่ประสานงานต่อให้ เตรียมทุกอย่างให้พร้อมที่สุดสำหรับเวลาถ่ายทำจริง การถ่ายทำตามท้องถนนหรือตามสถานที่ต่างๆ ทั้ง 3 ประเทศ ทีมงานของเราก็ทำเรื่องขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้น พอถึงเวลาจริงเราก็ยังเจอปัญหาที่คาดไม่ถึงหลายอย่าง เราต้องปรับตัวเยอะ และใช้ทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากทีเดียว

– การทำงานครั้งนี้ถือว่าโหดมากสำหรับทุกคน เราไปถ่ายช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งเป็นหน้าหนาวของที่นั่น ตอนเราไปถึงอุณหภูมิประมาณ 10 องศา แล้วมันก็หนาวขึ้นเรื่อยๆ จนถึง –3 –5 การที่ต้องทำงานในสภาพอากาศแบบนั้น แล้วต้องทำทุกวัน แถมงานของแต่ละคนยังหนักกว่าเดิมเหมือนที่ผมเล่าไปทีแรก ถือว่าต้องอาศัยพลังกายและพลังใจของทีมงานสูงมาก เรารู้ว่าเราต้องดูแลตัวเองให้ดี ต้องระวังไม่ให้ตัวเองป่วย เรารู้ว่าเราแอบอู้ไม่ได้ เราจะขี้เกียจไม่ได้ เพราะถ้าเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้นมา กองถ่ายจะรวนทันที การที่ทุกคนต้องมาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา บวกกับความเหนื่อยที่มากขนาดนั้น โอกาสที่จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันมันสูงมาก แต่ที่น่าประทับใจมากก็คือ ที่สุดแล้วเราก็ผ่านมันมาได้โดยที่ไม่มีใครมีปัญหาอะไรกันเลย

เอ๊กซ์ตร้าตาน้ำข้าว

– เรื่องสนุกอยู่ที่วิธีการสื่อสาร ที่อังกฤษไม่เท่าไหร่ เพราะเราคุยภาษาอังกฤษกันรู้เรื่อง แต่พอเป็นที่ฝรั่งเศสกับอิตาลีปุ๊บ เราต้องมีล่ามอยู่กับเราตลอดเวลา เพราะไม่มีใครพูดฝรั่งเศสกับอิตาเลียนได้ แล้วคนที่นั่นก็พูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยได้ด้วย

– ตอนถ่ายที่ฝรั่งเศส ทีแรกเราไม่รู้ พอถ่ายๆ ไป ผมสั่ง “คัท” แต่เอ๊กซ์ตร้าก็ยังไม่ยอมหยุดเล่นเสียที ผมก็ เฮ้ย ทำไมวะ มารู้ทีหลัง อ๋อ เขาฟังไม่ออก สุดท้ายเลยต้องสั่ง “กุ๊ปเป้!” แล้วพอจะแอ็คชั่นก็สั่ง “อั๊กซิอง!”

– นอกจากนั้นยังมีเอ๊กซ์ตร้าบางส่วนที่เราได้มาจากโมเดลลิ่งของที่นั่น กลุ่มนี้ก็สนุก เพราะเราใช้ห้องนั่งเล่นใน อพาร์ตเมนต์ที่เราเช่าอยู่เป็นที่แคสติ้ง พอถึงเวลาที่พวกนี้มาแคส ก็จะพบพวกเรานุ่งกางเกงเลนั่งกินข้าวกันอยู่ เขาก็จะงงๆ นิดหน่อยว่า พวกนี้มันถ่ายหนังจริงหรือเปล่าวะ มีอยู่คนหนึ่งเราถึงกับต้องพามาดูกองถ่ายวันหนึ่งก่อน เพราะเขาไม่เชื่อว่าเราเป็นกองถ่ายหนังจริงๆ

– เอ๊กซ์ตร้าฝรั่งจะมืออาชีพมาก ถึงบทจะน้อย แต่เขาจะอยากรู้รายละเอียดของบทตัวเอง จะถามตลอด “ผมควรจะแต่งตัวยังไง”, “ตัวละครของผมมีแบ๊กกราวน์ดยังไง”, “ผมอยากคุยกับผู้กำกับมากเลย” มีอยู่คนหนึ่งเอาชุดมาเต็มเลย เอามาให้เราเลือกว่าชุดแบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวละครของเขามากที่สุด

ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ รับบท “เชอรี่” – สาวมั่น เป็นตัวของตัวเองสูง เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง คิดเร็วทำเร็ว ถึงไหนถึงกัน รักการผจญภัย มักแสวงหาความท้าทายให้ชีวิตอยู่เสมอ

“กลัวสิวะ..กลัวมากด้วย แต่ถ้าเราผ่านสิ่งที่เรากลัวที่สุดไปได้ ต่อไปนี้เราจะไม่ต้องกลัวอะไรอีก”

รักเพื่อน ดื้อดึง ถึงไหนถึงกัน

– เชอรี่เป็นคนห้าวๆ ลุยๆ รักเพื่อนมาก มั่นใจในตัวเองสูง แล้วก็เป็นคนดื้อๆ บางทีเชอรี่จะชอบทำตัวแหกกฎ แต่ไม่ใช่เพราะขวางโลกหรืออะไร เพียงแต่เชอรี่จะชอบคิดว่า “ไม่เห็นเป็นไรเลย เรื่องแค่นี้เอง” อะไรแบบนี้มากกว่า แต่สุดท้ายหนังก็จะบอกนั่นแหละว่า ที่เชอรี่คิดว่าไม่เป็นอะไรน่ะ ที่จริงมันเป็นอะไรมากเลย และการแหกกฎของเชอรี่ก็เป็นที่มาของเรื่องราวทั้งหมดในหนังเรื่องนี้

– ถ้าถามว่าต่ายมีมุมไหนที่เหมือนหรือต่างกับเชอรี่บ้าง… ความเหมือนก็คงเป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับเพื่อน ติดเพื่อน รักเพื่อน แต่ส่วนที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือ เชอรี่จะห้าวและกล้ากว่าต่ายเยอะ เชอรี่จะเป็นคนที่คิดอะไรแล้วก็ลุยเลย หลายอย่างที่เชอรี่ทำในหนังเรื่องนี้ ถ้าเป็นตัวต่ายจริงๆ จะไม่กล้าทำ

“พี่ๆ ให้หนูเล่นนะ”

– เชื่อไหม ต่ายอยากเล่นหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้อ่านบท (หัวเราะ) ตอนนั้นพอรู้เรื่องคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องของผู้หญิง 2 คนที่ไปผจญภัยในยุโรปด้วยกัน พอเจอหน้าพี่ต้นก็บอกเขา “พี่ๆ ให้หนูเล่นนะ” แต่พี่ต้นบอก “เดี๋ยวขอไปหาคนอื่นก่อนนะ” โห! อะไร! ทำไมทำอย่างนี้! (งอนขำๆ) เราก็ปล่อยเขาหาไป 3 เดือน พอสุดท้ายเขาโทรมาบอก “ต่าย เข้ามาลองแคสหน่อย” เราเลยเข้าไปเลย ตั้งใจเล่นเต็มที่ เพราะอยากเล่นจริงๆ

อ่านบทปุ๊บ น้ำตาก็ไหลปั๊บ

– จริงๆ ต่ายเป็นคนที่ร้องไห้ยากนะ แต่ตอนอ่านบทหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ต่ายร้องไห้เลย มีอยู่ฉากหนึ่งที่โดนอย่างแรง ไม่ขอเล่านะว่าเป็นฉากไหน เพราะมันจะเป็นการเฉลยตอนจบของหนัง แต่เอาเป็นว่า เป็นฉากที่เกี่ยวกับเรื่องเพื่อนๆ นี่แหละ ตอนนั้นเราอยู่ในระหว่างการ Read Through (การที่ทีมงานทั้งหมดมารวมตัวกัน อ่านบท เพื่อทำความเข้าใจเรื่องทั้งหมดร่วมกัน) แล้วทุกคนที่อยู่ตรงนั้นก็ร้องไห้กันหมดเลย แสดงว่ามันต้องเป็นฉากที่โดนจริงๆ

– ต่ายว่าหนังมีความน่าสนใจในหลายๆ อย่าง มันมีความโรแมนติก มีความตลก มีซึ้ง มีเรื่องครอบครัว มีเรื่องเพื่อน และยังมีเรื่องการผจญภัย การเดินทาง พูดรวมๆ ก็คือ มันตอบสนองความสนใจของคนที่เป็นวัยรุ่นในทุกแง่มุม

ครั้งที่สองของต่าย-ต้น

– ต่ายทำงานกับพี่ต้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกคือ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แน่นอนว่า พอเป็นพี่ต้นกำกับ มันก็ทำให้ต่ายไม่มีความลังเลอะไรเลย เพราะหนึ่ง เรารู้ว่าพี่ต้นเป็นผู้กำกับที่เก่ง เราเชื่อว่าเขาต้องทำให้หนังออกมาดีได้ และสอง การทำงานกับคนที่คุ้นเคยกัน รู้จักกันมาก่อน มันก็ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นด้วย

– จะให้เม้าท์พี่ต้นเหรอ… พี่ต้นเป็นผู้กำกับที่…เอาแต่ใจนิดนึง (ขำ) เป็นคนละเอียดมาก (เน้น) แต่เราก็เข้าใจแหละว่า เขาต้องการให้งานออกมาดี และถ้ามองในมุมกลับ การที่พี่ต้นเนี้ยบขนาดนี้ เวลาเขาให้ผ่านที มันก็ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่า สิ่งที่เราทำไปจะต้องดีแล้วจริงๆ

ความไม่มั่นใจที่มาพร้อมกับความมั่นใจ

– เรื่องความดี ความน่าสนใจของหนัง ต่ายมั่นใจอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ขณะเดียวกัน ลึกๆ แล้วต่ายยอมรับว่ามีความไม่มั่นใจอยู่เหมือนกันว่า เราจะเล่นได้ไหม เพราะมันเป็นบทที่ยากที่สุดตั้งแต่เคยเล่นมา

– ถามว่าความยากของบทนี้อยู่ตรงไหน? ตอบได้เลยว่า ตรงที่ต้องร้องไห้นี่แหละ การร้องไห้ที่ต่ายต้องเล่นในหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่การเค้นน้ำตาปล่อยโฮธรรมดา แต่มันมีทั้งการพูดไป-ร้องไห้ไป พูดๆ อยู่แล้วน้ำตาค่อยๆ ไหล แต่ต้องบังคับให้ไม่มีเสียงสะอื้นหลุดออกมา ที่โหดสุดคือ มีการดีใจแล้วน้ำตาคลอด้วย…คือ ต้องแค่คลอๆ นะ ไม่ใช่ไหล ขณะที่สีหน้าและแววตาก็ยังต้องแสดงออกถึงความดีใจด้วย…โอ๊ย! ยาก! เครียดเลยน่ะ!

– เรื่องอากาศนี่ โอ้โฮ ต่ายแทบไม่อยากพูดถึง เราไปถ่ายช่วงหน้าหนาวพอดี แต่บางช่วง ตามบทแล้วมันจะต้องยังไม่ถึงหน้าหนาว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใส่แค่แจ๊กเก็ตบางๆ เพื่อให้สมบทบาท แล้วคิดดู ใส่แจ๊คเก็ตตัวเดียวขณะที่อุณหภูมิมัน –5 น่ะ ถ่ายๆอยู่ รู้สึกเหมือนจะตาย ทันทีที่คัตต้องรีบวิ่งกลับมาใส่เสื้อหนาวเพื่อรอการถ่ายเทคถัดไป ที่แย่คือ เวลาหนาวมากๆ มือมันจะสั่น ปากก็จะสั่น สั่นไปทั้งตัว แต่ยังต้องพูดบทให้ได้ด้วยนะ…เหนือคำบรรยายจริงๆ (หัวเราะ)

เดินทางไกล…เพื่อใกล้บ้าน

– ตอนอยู่อังกฤษ ต่ายเคยเห็นประโยคหนึ่งที่ชอบมาก คือ Travel is a means to an end. Home. ไม่รู้ว่าใครจะตีความประโยคนี้อย่างไร แต่โดยส่วนตัว ต่ายคิดว่ามันหมายความว่า ถึงเราจะออกเดินทางไปไกลแค่ไหน จะไปเจอประสบการณ์ใหม่ จะสนุกสนานอย่างไร แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับบ้าน เพราะมันเป็นที่ที่อบอุ่นและทำให้เรามีความสุขมากกว่าที่อื่นๆ

“อิตาลี” เป็นคำตอบสุดท้าย

– ในทั้ง 3 ประเทศที่เราไปถ่าย ต่ายชอบอิตาลีมากที่สุด มันจริงอย่างที่ใครๆ เขาบอกกันเลยว่า นี่คือประเทศที่โรแมนติกสุดๆ อาคารบ้านเรือน ถนน ทุกสิ่งทุกอย่างของเขาสวยหมด เรื่องหนึ่งของประเทศอิตาลีที่ต่ายชอบมาก คือ เขาจะพยายามรักษาอาคารเก่าๆ เอาไว้ให้คงสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด โอเค อะไรมันเก่าจะต้องซ่อม เขาก็ซ่อมไป แต่รูปลักษณ์หน้าตาภายนอกเขาจะพยายามรักษาไว้ให้เหมือนเดิม เพราะถือว่ามันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

– ถ้าให้ระบุว่าชอบเมืองไหนในอิตาลีที่สุด…ต่ายเลือกเวนิซ เราเคยแต่ได้ยินว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยคลอง ผู้คนใช้เรือแทนรถ อยากไปเวนิซมาตลอด แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ไปเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก พอไปเห็นจริง โอ้โฮ เมืองน่ารักกว่าที่เราเคยคิดไว้อีก…สุดยอดจริงๆ

เรียนรู้จากนุ่น-เชอรี่

– สิ่งหนึ่งที่ต่ายได้เรียนรู้จากเรื่องของนุ่นกับเชอรี่ในหนังเรื่องนี้ ก็คือ เพื่อนมีความสำคัญ และเราควรจะต้องรักษาความผูกพันและมิตรภาพเอาไว้

ภาพสวย จบซึ้ง ดูสนุก ตอบโจทย์ความฝัน ผจญภัยสุดมันส์

– ต่ายคิดว่า หนีตามกาลิเลโอ น่าจะเป็นหนังที่วัยรุ่นชอบกัน เพราะมันมีทั้งเรื่องราวการผจญภัยใน 3 ประเทศที่หลายคนใฝ่ฝันอยากไป มีความโรแมนติก ความเศร้า-ซึ้ง ความตลก นอกจากนั้นยังนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ที่หลากหลาย คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หนุ่ม-สาว และครอบครัวด้วย

เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ รับบท “นุ่น” – สาวหวาน ร่าเริง แสนงอน ช่างฝัน อ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ ดูภายนอกเหมือนคุณหนูง้องแง้ง แต่แท้จริงแล้วมีลูกบ้าซ่อนอยู่ลึกๆ อีกทั้งยังเป็นพวก ‘ยุขึ้น’ ยิ่งถ้าคนที่ยุเป็น เชอรี่แล้ว นุ่นพร้อมลุยทุกด่านที่ขวางหน้า

“ล้ำเส้นอะไร…เป็นแฟนกันมีเส้นด้วยเหรอวะ”

เต้ยกับ “ความประทับใจแรก”

– ตอนอ่านบทครั้งแรก เต้ยรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่สนุก มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ มีหลายอารมณ์ด้วย มีทั้งเรื่องราวของเพื่อน เรื่องของความรัก และความสัมพันธ์ในครอบครัว พูดรวมๆ คือ เป็นบทที่น่าเล่นมาก

เต้ยกับ “นุ่น” และ “เชอรี่”

– นุ่นเป็นผู้หญิงที่ร่าเริง มองโลกในแง่ดี เป็นคนที่รู้สึกยังไงก็แสดงออกมาอย่างนั้น ไม่ใช่คนที่คิดซับซ้อน เต้ยจะคล้ายกับนุ่นในแง่ของความร่าเริง ยิ้มง่าย เวลาอยู่กับเพื่อนก็พร้อมจะลุยๆ เหมือนกัน ในบางมุม เต้ยว่าเต้ยมีบางอย่างคล้ายเชอรี่เหมือนกัน เช่น เชอรี่จะเรียนสถาปัตย์ฯ ชอบวาดรูป ชอบทำอะไรเลอะเทอะ ไม่มีระเบียบ ตรงนี้แหละที่เหมือนเต้ย (ขำตัวเอง) เพราะพี่ต่ายตัวจริงจะเป็นคนที่มีระเบียบมากกว่า

เต้ยกับ “ชีวิตและหนัง”…เหมือนกันอย่างบังเอิญ

– เคยบ่นกับคุณแม่ไว้นานแล้วว่า อยากไปอยู่เมืองนอก ไปเรียน ทำงาน เก็บตังค์ ใช้ชีวิต ได้ช่วยเหลือตัวเอง เหมือนที่หลายๆ คนทำกัน แต่ไม่มีโอกาสได้ไปเสียที เช้าวันที่นัดคุยกับทางจีทีเอช ก่อนออกจากบ้านก็ยังคุยกับแม่เรื่องนี้อยู่ “อยากไปจังๆ” คือ ตอนนั้นเต้ยยังไม่รู้เลยนะว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่พอไปคุยปุ๊บ พี่ต้นเล่าเรื่องย่อให้ฟัง เต้ยก็ “เฮ้ย!” หันไปมองหน้าแม่ทันที ทั้งงง ทั้งดีใจ โอ้โฮ อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น

เต้ยกับ “วันที่ต้องเลือก”

– ใจจริงเต้ยอยากเล่นหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่อย่างเดียวที่ทำให้ลังเลก็คือ การที่ต้องดร็อปเรียน จุดนี้นี่คิดหนักเลย นั่งคุยกับคุณพ่อคุณแม่อยู่นาน แล้วสุดท้ายก็ตัดสินใจว่า โอเค เต้ยยอมดร็อปเรียน เพราะเต้ยคิดว่า การไปครั้งนี้จะให้ประสบการณ์หลายอย่างกับเรา มันไม่ใช่แค่การไปเล่นหนังหนึ่งเรื่อง แต่มันยังมีเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น การไปอยู่กับคนตั้ง 10 กว่าคนที่เราไม่ได้คุ้นเคยกับเขามาก เราจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นเรายังต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง เพราะไปอยู่โน่นคงไม่มีใครมาทำโน่นทำนี่ให้ ถึงวันนี้ พอผ่านมันมาแล้ว เต้ยบอกได้เลยว่ามันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าจริงๆ และเต้ยไม่เสียใจเลยที่เลือกอย่างนี้

เต้ยกับ “ผู้กำกับแสนอบอุ่น”

– นี่เป็นครั้งแรกที่เต้ยทำงานกับพี่ต้น ในความคิดของเต้ย พี่ต้นเป็นคนที่อบอุ่น ทำงานจริงจัง และยังละเอียดมากๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาถ่ายๆ อยู่ บางทีพี่ต้นจะสั่ง “คัทๆ! เทค!” ทุกคนงงเพราะไม่เห็นมีอะไรผิดพลาดตรงไหน จากนั้นพี่ต้นก็จะเฉลยว่า เขาเห็นเงาอะไรบางอย่างแว้บเข้ามาในจอ ซึ่งทุกคนในกองไม่มีใครเห็นเลยนะ

– ถามว่าความละเอียดของพี่ต้นเคยสร้างความเหน็ดเหนื่อยอะไรให้เต้ยไหม…ตอบได้ว่า ไม่เลย การที่พี่ต้นละเอียดพิถีพิถันมากๆ เต้ยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี แล้วเต้ยก็เข้าใจว่า เพราะเขาตั้งใจมากไง เขาถึงได้ละเอียดกับมันมาก ซึ่งการที่เขาละเอียดมากๆ มันก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่า งานที่ออกมาจะต้องดีมากด้วย

– นอกจากนั้น พี่ต้นยังทำกับข้าวอร่อยด้วย ที่ลอนดอน ด้วยความที่เราเช่าบ้านอยู่รวมกันหมด บางทีก็เลยมีผลัดๆ กันทำกับข้าว…แต่เขาไม่เคยให้เต้ยกับพี่ต่ายทำนะ สงสัยกลัว (หัวเราะ) มีอยู่หนหนึ่งพี่ต้นทำสเต๊กหมูให้กิน โอ้โฮ อร่อยมาก เต้ยทึ่งไปเลย

เต้ยกับ “เร”

– เต้ยเคยเห็นพี่เรตั้งแต่เด็กๆ แล้ว รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่มีคาแร็คเตอร์น่าสนใจ พอไปเจอตัวจริง เขาก็เป็นอย่างที่คิดไว้เลย พี่เรเป็นคนสนุก มีความคิด ชอบไปโน่นไปนี่ ชอบท่องเที่ยว ชอบแสวงหาอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ภาพที่คนทั่วไปมองพี่เร อาจคิดว่าพี่เขาเป็นคนติสต์ เข้าถึงยาก มีโลกส่วนตัวสูง แต่จริงๆ เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย พี่เรเป็นคนอัธยาศัยดีมาก กับทุกคนในกองเขาก็คุยด้วยได้หมด เป็นคนที่ทำงานด้วยง่ายมากๆ

เต้ยกับ “ความอึดเกินร้อย” และ “ความหนาวเกินพิกัด”

– ในภาพรวม การทำงานครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่สนุกมากสำหรับเต้ย และเต้ยก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากๆ คุ้มมากๆ แต่ถ้าให้พูดถึงความเหนื่อย บอกได้เลยว่ามันเหนื่อยอยู่แล้ว เพราะเรามีเวลาแค่ 2 เดือน เราต้องถ่ายให้จบ เราต้องทำงานทุกวัน แล้วด้วยความที่เราทำงานกันเป็นทีม ทุกคนต้องช่วยกัน อย่างเต้ยกับต่าย ก็อยากแต่งหน้าเอง ทำผมเอง (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่ามีใครบังคับให้ทำนะ เพียงแต่มีอะไรที่เราพอจะช่วยได้ เราก็อยากช่วย เพราะพี่ๆ ทุกคนก็มีงานกันเยอะอยู่แล้ว และทำให้เราได้รู้สึกว่าเราไปใช้ชีวิตกันเอง ได้รับผิดชอบตัวเองจริงๆ

– การที่เราต้องรับผิดชอบอะไรเยอะๆ มันทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะละเอียดรอบคอบมากขึ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งเต้ยเคยลืมของ แล้วพี่ที่กองต้องวิ่งกลับไปเอาที่บ้าน ทำให้เสียเวลากันไป ครั้งนั้นเต้ยรู้สึกผิดมาก แต่มันก็สอนเราว่า เราต้องรู้จักรอบคอบให้มากขึ้น หลังจากนั้นทุกคืนก่อนนอน เต้ยจะเช็กของที่จะใช้ในการถ่ายทำวันรุ่งขึ้นอย่างละเอียด ก่อนออกจากบ้านก็ยังเช็กอีกที รวมแล้วประมาณ 3 รอบ (หัวเราะ)

– สิ่งที่โหดที่สุดสำหรับเต้ยในการทำงานครั้งนี้ คือ อากาศ เราไปถ่ายช่วงที่เป็นหน้าหนาวของเขาพอดี แล้วที่อังกฤษนี่ ฝนตกบ่อย ยิ่งฝนตกมันก็ยิ่งหนาว ส่วนที่ฝรั่งเศส มันหนาวแบบ… หนาวแบบเต้ยไม่รู้จะบรรยายยังไง หนาวจนเต้ยต้องเอาถุงให้ความร้อน แบบที่ผู้หญิงใช้วางบนท้องเวลาปวดประจำเดือนมาแปะตามตัวน่ะ (หัวเราะร่วน) เต้ยต้องเอามาแปะพุง แปะหลัง บางทีต้องมีแปะเท้าด้วย (หัวเราะอีก) แต่ที่แปลกก็คือ ตอนอยู่ที่นั่น เต้ยไม่มีไม่สบายเลย อย่างมากก็แค่เหนื่อยๆ เพลียๆ พอได้นอน ตื่นเช้ามาก็กลับมาดีเหมือนเดิม แต่ทันทีที่กลับมาเมืองไทยนี่สิ…กลับมาปุ๊บ เต้ยป่วยเลย

เต้ยกับ “โรคโฮมซิค”

– ช่วงที่ไปแรกๆ เต้ยไม่คิดถึงบ้านเลยนะ โอเค เราคิดถึงพ่อแม่ แต่ไม่มีความรู้สึกว่าอยากกลับบ้าน อาจเพราะเต้ยเป็นคนชอบเที่ยวอยู่แล้ว แล้วตอนนั้น ด้วยความที่เราไปเจออะไรใหม่ๆ เยอะแยะไปหมด ทุกๆ วันเป็นวันที่ใหม่ทั้งหมดสำหรับเรา เราก็เลยตื่นตาตื่นใจกับมันมาก แต่พอถึงช่วงท้ายๆ ของการถ่ายทำ โรคโฮมซิคเริ่มบุกแล้ว ยิ่งอาทิตย์สุดท้าย ตอนที่อยู่อิตาลี เต้ยแบบ…คิดถึงไปหมด คิดถึงบ้านมาก (เน้น) คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงห้องนอนของตัวเอง คิดถึงการได้นอนบนเตียงตัวเอง คิดถึงไปหมด

เต้ยกับ “บทเรียนจากกาลิเลโอ”

– หนังเรื่องนี้ทำให้เต้ยโตขึ้น เราไปใช้ชีวิตกับผู้คนที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ไม่เคยคุ้นเคยกับเขามาก่อน และไม่เคยอยู่ร่วมกับเขามาก่อนเลย เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีการปรับตัว เราได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วด้วยความที่เต้ยเด็กสุดในกอง ทุกคนจึงถือว่าเป็นพี่เราหมด แล้วพี่ๆ ทุกคนก็น่ารัก เวลาใครติ ใครเตือนอะไร เราก็จะรับฟัง พอเราเรียนรู้ที่จะรับฟังคนอื่น มันก็ส่งผลให้เราเรียนรู้ที่จะปรับปรุงตัวเองด้วย

เร แมคโดนัลด์ รับบท “ตั้ม” (ปารีส) – เซอร์ แต่ไม่ขวางโลก คมคายทั้งคำพูดและความคิด มักพูดจากวนโดยไม่ตั้งใจ (ที่จริงเป็นแค่คนพูดตรง) รักอิสระ แต่ยินดีอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของโลก

“ไม่สนไฟจราจร ข้ามถนนมองขวา คนไทยเท่านั้นที่มี 2 อย่างนี้รวมกัน”

ผู้ชายที่น่าค้นหา กับปรัชญาการใช้ชีวิตที่แตกต่าง

– ในหนังผมรับบทเป็น “ตั้ม” ชายหนุ่มที่ใช้ชีวิตที่ปารีสมานาน ข้อสรุปของผมต่อตัวละครตัวนี้ คือ เขาเป็นผู้ชายที่น่าค้นหา เป็นคนที่มีปรัชญาการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใคร ตั้มมีวิธีมองโลกในมุมแปลกๆ ครั้งแรกที่ผมอ่านบทนี้ ผมเคยนึกสงสัยเหมือนกันว่า คนแบบนี้จะมีอยู่จริงในโลกหรือเปล่า แต่พอทำความรู้จักเขามากขึ้น พยายามเข้าใจเขามากขึ้น ผมก็พบว่า ที่จริงเขาเป็นคนที่น่าสนใจมากคนหนึ่ง และอีกมุมหนึ่งที่ผมค้นพบ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมคิดมากไปเองหรือเปล่า ก็คือ ตั้มเป็นคนที่น่าเห็นใจ เพราะผมคิดว่าตัวเขาเองก็คงหนีอะไรบางอย่างมาเหมือนกัน เพียงแต่ผมไม่พบคำตอบว่าสิ่งที่เขาหนีมาคืออะไร

เรไม่ลังเล

– เรื่องลังเลว่าจะรับหรือไม่รับงานนี้ ตอบได้เลยว่าผมไม่มีลังเลครับ ผมตัดสินใจรับตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ผมยอมรับว่ามีความไม่แน่ใจอยู่บ้าง ในแง่ที่ว่า ผมจะเล่นได้ถึงหรือเปล่า จะทำให้คนดูเชื่อได้หรือเปล่าว่าผมคือตั้ม และอีกอย่าง อายุของผมกับน้องทั้ง 2 คน คือ ต่ายกับเต้ย ค่อนข้างจะห่างกันมาก เวลาไปยืนด้วยกันแล้วผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นลุงๆ น้าๆ ยังไงไม่รู้ ผมยังเคยถามพี่ต้นเลยว่า “พี่ๆ พี่คิดดีแล้วเหรอที่เลือกผม ผมไม่แก่ไปเหรอ” แต่พี่ต้นบอกว่าเขาคิดดีแล้ว และคิดว่าผมใช่

อิ่ม จุก ครบรส

– ผมได้อ่านบทหนังทั้งเรื่องครั้งแรกตอน Read Through ความรู้สึกแรกของผมหลังจากอ่านจบ คือ ผมอิ่ม…อิ่มมากๆ และมันก็มีครบทุกรส ก่อนหน้านี้ผมคาดไว้ล่วงหน้าว่า มันคงเป็นหนังของผู้หญิง 2 คน วัยรุ่นแบ็กแพ็ก สงสัยพี่ๆ ที่เขียนบทคงอยากไปเที่ยวกันมั้ง ก็เลยเขียนเรื่องแบบนี้ขึ้นมาเพื่อที่ทุกคนจะได้ไปเที่ยวกัน ผมคิดไม่ถึงว่าหนังจะมาทางนี้ เราอาจจะติดภาพหนังเรื่องอื่นๆ ที่ไปถ่ายเมืองนอกแล้วก็เน้นขายวิว ขายสถานที่ มากกว่าจะขายเรื่องราว พอจบ Read Through วันนั้นผมบอกพี่ต้นเลยว่า “เฮ้ยพี่ ทำไมพี่ไม่ให้ผมอ่านบททั้งเรื่องก่อน ถ้าพี่ให้ผมอ่านก่อนนะ ผมเล่นฟรีก็ได้”

– วันนั้น พออ่านจบ ผมรีบลุกจากโต๊ะประชุมเลย เพราะรู้ว่าถ้านั่งไปอีกสักพักเราอาจร้องไห้เหมือนกับคนอื่นๆ ที่กำลังร้องเป็นรอบที่ 7 ขนาดตอนขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านผมยังรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในลำคอ…ไม่ใช่เสลดนะ แต่มันเป็นอะไรที่จุกๆ และซึ้ง ขนาดเวลาผ่านไปแล้วชั่วโมงกว่าผมก็ยังคิดถึงมันอยู่ ผมยังเก็บมาเล่าให้แฟนฟังว่าบทหนังเรื่องนี้มันดีมากจริงๆ

– ฉากที่ผมชอบที่สุด รอดูที่สุด ก็คือ ฉากที่ต่าย (เชอรี่) โทรกลับหาพ่อ โอ้โฮ ฉากนี้โคตรซึ้งเลย แต่ผมอยากให้ดูกันเองในหนัง ผมยังคิดเลยว่า บทแบบนี้นี่มันต้อง Bad Acting สุดๆ เลยนะถึงจะไม่เวิร์คน่ะ เพราะมันเวิร์คมาตั้งแต่เป็นตัวหนังสือแล้ว

การเมือง เรื่องหนัง ปิดสุวรรณภูมิ!

– ตอนผมกำลังจะบินไปถ่าย เขาประท้วง ปิดสนามบินสุวรรณภูมิพอดี ผมก็คิดหาทางไปไว้หลายทาง…นั่งรถไฟลงไปปีนังมั้ย จากปีนังขึ้นเครื่องไปกัวลาลัมเปอร์ แล้วค่อยบินจากกัวลาลัมเปอร์ไปปารีสอีกที คิดว่าไม่น่าจะยากมาก เพราะปรกติผมชอบนั่งรถไฟอยู่แล้ว แต่สุดท้ายพี่เขาไปหาตั๋วมาให้จนได้ บินจากอู่ตะเภาไปปารีส เครื่องออก 9 โมงเช้า เขาบอกให้ผมไปถึงสนามบินตั้งแต่ตี 4 เพราะกลัวมันจะมีปัญหาขลุกขลักอะไร ไปถึงอู่ตะเภามีพายุเฮอริเคนเข้าพอดี ถุงพลาสติกน้ำเนิ้มเยอะแยะไปหมด แล้วก็มีคนรอจะขึ้นเครื่องเต็มเลย แต่โอเค สุดท้ายมันก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก เพราะตอนนั้นเริ่มมีการบินจากอู่ตะเภามาหลายวันแล้ว ระบบต่างๆ ก็เริ่มเข้าที่ เจ้าหน้าที่ทางโน้นก็ค่อนข้างพร้อมรับมือกับอะไรต่างๆ แล้ว

คำตอบอยู่ใกล้ๆ

– หนังมีประเด็นที่ผมโดนอยู่ 2 ประเด็น หนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก สอง เรื่องราวของผู้หญิง 2 คนนี้ที่หนีปัญหาไปไกลๆ ก่อนที่สุดท้ายจะพบว่า ที่จริงคำตอบของปัญหาทุกอย่างมันอยู่แค่ใกล้ๆ นี่เอง มันเหมือนการที่คนชอบมองออกไปไกลๆ มองไปที่อื่นเพราะคิดว่ามันคงจะดีกว่า คิดว่าที่อื่นคงจะมีคำตอบให้ แต่จริงๆ แล้วคำตอบมันอยู่ข้างใน คำตอบอยู่ที่บ้านของเรานี่เอง

โลก: ห้องเรียนวิชาความเป็นมนุษย์

– ส่วนตัวผมเอง การเดินทางสำคัญสำหรับผมนะ มันเหมือนเราเดินเข้าห้องเรียน มันหยิบยื่นประสบการณ์ที่ช่วยทำให้ผมเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น ประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือแย่ มันก็ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้ทั้งนั้น

– การเดินทางช่วยให้เราได้เปิดโลก ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ นอกจากนั้น การที่เรามองบ้านของตัวเองจากที่ไกลๆ มันก็ทำให้เราเห็นบ้านของตัวเองชัดขึ้น มันทำให้เราเห็นเสน่ห์ของหลายสิ่งหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้เรามองข้ามไป

 

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น