Home » » จันดารา 2544

จันดารา 2544



จัน ดารา ภาพยนตร์แนวอิโรติค-ดราม่า เรื่องราวของกรรมระหว่าง “พ่อ” และ “ลูก” ที่มีความสัมพันธ์กันเพียงแต่ในนาม ดำเนินชีวิตด้วยความเคียดแค้นและเกลียดชัง หากแต่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนของกันและกัน และได้สะท้อนให้เห็นความจริงบางอย่างในชีวิต อันน่าขนลุกขนพองในจิตใจแท้ของมนุษย์

จันดารา ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความผิดพลาดและความเกลียดชัง ดารา ( วัลภา พรหมนวล ) แม่ของ จัน เศรษฐีนีสาวสวยถูก จอม ( ดนัย ชนะชานันต์ ) แฟนของ น้าวาด ( วิภาวี เจริญปุระ ) พร้อมกับสมุนสองคนฉุดไปกระทำชำเรา เมื่อครั้งเดินทางไปเมืองพิจิตรกับบิดาของเธอ บิดาของเธอจึงว่าจ้างให้ คุณหลวง ( สันติสุข พรหมสิริ ) แต่งงานกับ ดารา โดยยกบ้านและทรัพย์สินให้เป็นการแลกเปลี่ยน

ดารา เสียชีวิตทันทีที่คลอด จัน ออกมา คุณหลวงโกรธเกลียดชังเด็กชายตัวน้อยทันที แม้ยังไม่ได้เห็นหน้า คุณหลวงตั้งชื่อให้ว่า จัน-จัญไร วิสนันท์ น้าวาดลงมาจากพิจิตรเพื่อร่วมพิธีศพ พบว่าไม่มีใครต้องการ จัน น้าวาดจึงรับอาสารับเลี้ยง จัน และเพื่อเป็นการถ่ายบาปให้กับ จอม คนรักของตน ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุแห่งเคราะห์กรรมนี้ และแม้ว่า น้าวาด ต้องสละตัวยอมเป็นเมีย คุณหลวง เพื่อเธอจะได้มีโอกาสเลี้ยงดู จัน ได้ตลอดรอดฝั่ง

ในชีวิตจันมี คุณบุญเลื่อง ( คริสตี้ ชุง) ครอบครองจิตใจจันในเรื่องกามารมณ์ และ ไฮซินธ์ ( ศศิธร พานิชนก ) สาวน้อยวัย 14 ปี ซึ่งเป็นดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ ดอกเล็กดอกเดียวในหัวใจของ จัน

จัน ถูก คุณหลวง เนรเทศออกจากบ้าน จึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตรอยู่สามปี น้าวาดก็มาตามตัวและขอให้ จัน กลับบ้านที่พระนคร จัน ได้โอกาสแก้แค้น คุณหลวง จึงยอมแต่งงานกับ คุณแก้ว ( ภัทรวริทร์ ทิมกุล ) เพื่อแลกเปลี่ยนกับกรรมสิทธิ์ในบ้าน และ คุณหลวง ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านต่อไป จัน กลับไปหา ไฮซินธ์ ที่บ้าน แต่ ไฮซินธ์ เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคไทฟอยด์เมื่อสองปีมาแล้ว จุดสีขาวเล็กๆในหัวใจของ จัน เลือนหายไป เหลือไว้แต่ความมืดมิด

ต่อมา คุณแก้ว ให้กำเนิดลูก เด็กชายปรีย์-อัปรีย์ วิสนันท์ เป็นเด็กชายปัญญาอ่อน ความสัมพันธ์ของ คุณแก้ว เพิ่มพูนความเกลียดชัง และ จัน แก้แค้น คุณหลวง ต่อไปโดยพยายามมีลูกกับ คุณแก้ว แต่ คุณแก้ว ไม่ยอม จันจึงใช้วิธีขืนใจเธอทุกครั้ง จน คุณแก้ว ท้อง ต่อมาวันหนึ่ง คุณหลวง มาพบ จัน กับ คุณบุญเลื่อง นอนด้วยกัน ด้วยความรู้สึกที่ประเดประดังเข้ามา คุณหลวง ถึงกับล้มและเป็นอัมพาตตั้งแต่นั้นมา การแก้แค้นของ จัน เป็นอันสิ้นสุดลง

 นักแสดง:


สุวินิจ ปัญจมะวัต …. จัน วิสนันท์ วัย 15 ปี
เอกรัตน์ สารสุข …. จัน ดารา จัญไร วิสนันท์
สันติสุข พรหมศิริ …. คุณหลวงวิสนันทเดชา
วิภาวี เจริญปุระ …. น้าวาด *ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม ปี พ.ศ. 2544*
คริสตี้ ชุง …. คุณบุญเลื่อง
ภัทรวรินทร์ ทิมกุล …. คุณแก้ว วิไลเรข วิสนันท์ 
วิสันต์ ทิพย์สุวรรณ …. จัน วิสนันท์ วัยเด็ก
จิตรลดา เจริญลาภ …. คุณแก้ว วัย 15 ปี
พิมประภา ตั้งประภาพร …. คุณแก้ว วัยเด็ก
ศศิธร พานิชนก …. ไฮซินธ์
ครรชิต ถ้ำทอง …. เคน กระทิงทอง

ทีมงาน
อำนวยการผลิต ปีเตอร์ ชาน, อลัน ฟุง, วิสูตร พูลวรลักษณ์
ควบคุมการผลิต โจโจ ฮุย ชุน, ดวงกมล ลิ่มเจริญ
ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร
ผู้กำกับภาพ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ
บทประพันธ์ อุษณา เพลิงธรรม
บทภาพยนตร์ ศิรภัค เผ่าบุญเกิด
ผู้ออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น

ระบบถ่ายทำ: ฟิล์ม 35 มม., สี

จัน ดารา สร้างจากวรรณกรรมไทยชื่อ “เรื่องของจัน ดารา” ของ อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 และเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดย วัฒน์ เศรษฐภักดี แต่ได้ถูกดัดแปลงเนื้อหาให้ผิดเพี้ยนจากบทประพันธ์ต้นฉบับเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งในปี 2544 นนทรีย์ นิมิบุตร ได้เปิดทุกซอกหลืบของบ้าน “วิสนันท์” และชุบชีวิตตัวละครให้โลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอีกครั้งอย่างเคารพในบทประพันธ์จากการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย ศิรภัค เผ่าบุญเกิด

ด้วยเนื้อหาที่แรงและท้าทายการรับรู้ของสังคมไทยในยุคนั้นเป็นอย่างมากของภาพยนตร์แนวอิโรติก-ดราม่าที่สะท้อนด้านมืดอันน่าขนลุกขนพองในจิตใจของมนุษย์ที่ถูกครอบงำไปด้วยตัณหา, ความลุ่มหลง, ความเคียดแค้น และความเกลียดชังเรื่องนี้ ทำให้เมื่อครั้งภาพยนตร์ออกฉายก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์กรณีเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา

แต่ในท้ายที่สุด จัน ดารา เวอร์ชั่นนี้ก็ได้รับการยอมรับจากผู้ชมในแง่คุณภาพที่ยังคงเอกลักษณ์และความโดดเด่นด้านงานสร้างของทีมงานนี้ รวมถึงฝีมือทางการแสดงอันเข้มข้น-เหนือชั้นของทีมนักแสดง และสามารถกวาดรายได้เฉพาะในกรุงเทพฯ ไปเกือบ 40 ล้านบาทเลยทีเดียว

รางวัลการันตี:

– รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม สุนิตย์ อัศวินิกุล, ธานินทร์ เทียนแก้ว จาก Star Entertainment Awards 2002

– รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม ณัฐวุฒิ กิตติคุณ จาก รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2544

– รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม เอก เอี่ยมชื่น จาก รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2544

– รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (วิภาวี เจริญปุระ), กำกับภาพยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม จากรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 10 ประจำปี 2544


 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น