Home » » โอเคเบตง

โอเคเบตง

“ชีวิตก็เหมือนการขี่จักรยาน จะสนุกได้ มันต้องรู้จักถีบ”
“บางทีเด็ก ป.4 ก็เป็นครูที่ดีสำหรับผู้ใหญ่”
“หลวงน้าเปรียญ 9 กับหลานสาว ป.4 เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งดี ๆ ที่นี้พร้อมกัน”

ทุกชีวิตในโลกล้วนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง หลายคนกลัวและไม่กล้าที่เผชิญหน้า หรือยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่ในขณะที่ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า ความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่การที่คนเราต้องเปลี่ยนแปลง แต่วิธีการเตรียมพร้อม และการควบคุมสติที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่างหาก ที่เราควรจะกลัว…

โอเคเบตง สะท้อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงก้าวผ่านจาก “ธรรมะ” สู่ “โลกียะ” ผ่านมุมมองของตัวละครอย่าง “พระธรรม” ที่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างปุปปับของโลกที่เขาเคยคุ้น สู่การเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เต็มไปด้วยเพศหญิงที่เขาไม่คุ้นเคย และยอมรับกับอารมณ์ความรู้สึกใหม่ ๆ ที่อยู่นอกเหนือเหตุและผลจากชีวิตเดิม ๆ ของเขา


ภาพยนตร์ชีวิตอารมณ์ดี ผลงานลำดับที่ 5 ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับแห่งปรากฏการณ์เรื่องนี้ ถือเป็นการพลิกสู่การกำกับที่เรียบง่ายแต่ยังคงแฝงด้วยสาระชั้นดีเช่นเคย และที่สำคัญเขาได้นำความอบอุ่นและมิตรภาพสู่ทุกหัวใจของคนไทยผ่าน


นักแสดง:

ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง …. พระธรรม 
จีรนันท์ มะโนแจ่ม …. หลิน 
ด.ญ. สรัญญ่า เครื่องสาย …. มารีอา 
สรวงสุดา ศรีธัญรัตน์ …. เฟิร์น 
อรรถพร ธีมากร …. ฟารุก 
พิภูษณ วิจิตรวงศ์เจริญ …. วงศ์ 





รางวัลการันตี:

– ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Feature Film จากเทศกาลภาพยนตร์ Hawaii International Film Festival ปี 2004

– ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Golden Goblet ในเทศกาลภาพยนตร์ Shanghai International Film Festival ปี 2004

– ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรณหงส์ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2546 ใน 8 สาขาความยอดเยี่ยม ได้แก่ ผู้กำกับ, นักแสดงนำชาย, บทภาพยนตร์, กำกับภาพ, ลำดับภาพ, ดนตรีประกอบ, บันทึกเสียง และออกแบบเครื่องแต่งกาย


คุยกับนนทรีย์… ถึงที่มาที่ไปของ ok เบตง และแนวทางการทำงานใหม่ที่มีความสุขกว่า

เคยเกริ่นกันไปบ้างแล้วสำหรับหนังเรื่องใหม่ โอเคเบตง ของ นนทรีย์ นิมิบุตร นับว่าเป็นหนังไทยดีๆ ปิดท้ายปลายปีที่มีคนให้ความสนใจกันมากพอสมควร แม้ว่าจะต้องหลบกระแสความแรงของหนังใหญ่ยักษ์อย่าง Lord of the Ring ก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็ไม่หนักหนาอะไรนัก เพราะถ้ามองอีกแง่ก็นับเป็นเรื่องดีสำหรับคนที่ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวไหน จะได้มีหนังดีๆ ให้ดู เมื่อหนังน่าดูซะขนาดนี้ทาง Somethingcools จึงอดไม่ได้ที่จะต้องขอคุยกับพี่อุ๋ย ผู้กำกับของเรื่อง ถึงที่มาที่ไปของหนังซักหน่อยตามที่เคยสัญญาไว้คราวก่อน (ยาวหน่อยนะ พี่เขาพูดเก่ง)

เคยได้ยินมาว่าตอนแรก พี่อุ๋ย ไม่ได้ตั้งใจจะหยิบประเด็นของเรื่อง โอเคเบตง มาทำเป็นหนังแล้วทำไมไปๆ มาๆ ถึงกลายมาเป็นหนังเรื่องที่ 5 ได้ละครับ

นนทรีย์ : จริงๆ แล้วได้แรงบันดาลใจจากการคุยกับเพื่อนที่บวช ซึ่งผมก็เคยบวชมาแล้ว เลยกลายเป็นการคุยกันระหว่างพระ กับฆราวาส พอได้คุยกันก็ได้เห็นบรรยากาศ เห็นสภาพแวดล้อม ทำให้มานึกดูว่า คนที่บวชนานๆ แล้วสึกออกมามันจะเป็นอย่างไร ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจมาทำเป็นหนัง แต่พอคุยกันหลายครั้ง ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจกับการที่คนที่อยู่ในโลกแห่งธรรมะมาตลอด ต้องออกมาอยู่ในโลกแห่งโลกียะ พอมันวนเวียนอยู่ในหัวเลยเกิดเป็นความอยากขึ้น ผมเชื่อว่าน่าจะเหมือนกับผู้กำกับทุก ๆ คน ที่พอมีเรื่องอยู่ในหัวก็ต้องฝันละว่าเรื่องใดที่อยากทำ ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งคิด ยิ่งคุย ยิ่งเขียนก็ยิ่งสนุก มันเลยตอบคำถามผมได้ว่า ผมอยากทำหนังเรื่องไหนต่อไป นั้นเป็นสิ่งเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้

เรื่องมันเกี่ยวอะไรกับเบตงละครบ ทำไมต้องเบตงด้วย
นนทรีย์ :
ตอนคุยกันเราได้คุยกันถึงเรื่องเมือง เรื่องความเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คนด้วย เราก็อยากจะหาเมืองที่เป็นตัวแทนซักที่ ซึ่งเหมือนกับโลกใบเล็กที่มีทุกอย่าง หากันมาเรื่อยๆ จนถึงแถวภาคใต้ มาเจอเบตง ซึ่งก็รู้สึกว่า
โอ้โห…ใช่เลย ยิ่งได้มาเก็บข้อมูล มาพูดคุยกับผู้คนที่นี้ ทั้งคนกลางวัน คนกลางคืน ยิ่งสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาพาเราไป หรือที่เราสืบเสาะมาได้ ทำให้รู้สึกว่ามันต้องที่นี้แล้ว ทื่อื่นไม่ได้ เบตง เป็นเมืองที่มีความหลากหลายจริง ๆ ตามที่ผมคิด



แล้วทำไมไม่เลือกกรุงเทพละครับ เพราะกรุงเทพก็เป็นเมืองที่มีความหลากหลายเหมือนกัน
นนทรีย์ :
ผมไม่ค่อยชอบความเป็นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ เมืองต่างจังหวัดมีความเป็นไทยดั้งเดิมมากกว่า กรุงเทพเปลี่ยนไปเยอะเพราะมีวัฒนธรรมผสมหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในตัวคนกรุงเทพ จนรู้สึกว่าความผสมนั้นมันเป็นการหลอกหลวง แต่กลับรู้สึกว่าเวลาเราไปต่างจังหวัด มันจะมีความจริงใจ มีน้ำใจ มีอะไรมากกว่า ซึ่งเป็นภาพของคนไทยที่ผมอยากเห็น อยากถ่ายทอด ผมใช้เบตงเหมือนย่อโลกลงมา ที่นี้มีอะไรที่ค่อนข้างครบ มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ความคิดทางศาสนา ชีวิตความเป็นอยู่ เป็นเมืองที่มีวัดไทย จีน มัสยิด มีชีวิตความเป็นอยู่การทำมาหากิน และยังประกอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน ทุกรูปแบบ การผสมผสานเหล่านี้มันน่าสนใจ ผู้คนที่เบตงก็น่าสนใจ มีทั้งคนกลางวันคนกลางคืน ถามว่ากรุงเทพมีไหม…มี…แต่ว่าลักษณะของไลฟ์สไตล์จะคนแบบกันเลย กรุงเทพมมีปัจเจกในแง่ของรูปแบบที่ค่อนข้างสูง แต่ที่นี้เขาใช้ชีวิตเป็นธรรมชาติ แม้คนกลางคืนจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ และคนกลางคืนส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนพื้นเพที่นี้ แต่ก็สามารถทำตัวกลมกลืนกับคนที่นี้ได้ แม้กระทั่งภาษาที่พูด สำเนียงที่พูด คนเบตงก็มีสำเนียงของเขา เหมือนกับคนสุพรรณ ซึ่งเราฟังแล้วน่ารัก ขำ ๆ ได้ ความน่ารักเหล่านี้เราน่าจะเก็บไว้เพื่อถ่ายทอดให้กับคนดูได้ดูในรูปแบบที่เราเห็น

การทำงานกับหนังเรื่องนี้ต้องเปลี่ยนอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะงานที่ผ่านๆ มาของพี่อุ๋ยจะเป็นเรื่องย้อนยุคซะส่วนใหญ่
นนทรีย์ : ในงานเรื่องก่อนผมพยายามถ่ายทอด หรือสะท้อนภาพของชีวิตคนปัจจุบัน โดยยืมภาพอดีตเป็นเครื่องมือที่จะอธิบายความรู้สึก หรือวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไป จะมากน้อยก็แล้วแต่ เพราะต้องเอาความสนุกของคนดูเป็นที่ตั้ง แต่พอถึงตรงนี้ผมรู้สึกว่าผมเดินไปถึงจุดที่พร้อมที่จะถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกมากไปกว่าเมื่อก่อน ที่ถ่ายทอดด้วยรูปแบบของ ภาพ เสียง เทคนิค หรือ element ต่างๆ หนังเรื่องนี้ผมเลือกที่จะใช้อารมณ์ ความรู้สึก อย่างเต็มที่ และผมรู้สึกว่า นี่คือการทำหนังจริง ๆ เพราะทุกคนที่มาร่วมงานมีความเป็น Expert ไม่ว่าจะเป็น พี่แดง ผู้กำกับภาพที่ดูแลการออกแบบภาพทั้งหมด หรือ เอก เอี่ยมชื่น ที่เขาเป็นโปรดักชั่นดีไซน์ เขาจะออกแบบฉากทั้งหมด สีทั้งหมดในหนัง ซึ่งทำให้ผมวางมือทุกอย่างไปเลย เหลือแค่มานั่งดูว่าอารมณ์ของนักแสดงที่อยากให้ถ่ายทอดออกมา มากไป น้อยไป ชัดเจนเพียงไร เสียงดังหรือเบาไปไหม อะไรทำนองนี้ มีความรู้สึกว่านี่เป็นการทำหนังที่รู้สึกสมบูรณ์ครั้งหนึ่ง เมื่อก่อนเราต้องมีชู้ตติ้งสคริปต์ มีสตอรี่บอร์ด มีอะไรต่อมิอะไร เป็นตัวกำหนด วางแผน เดี๋ยวนี้เราก็วางแผน แต่เราไม่ได้วางแผนว่าจะทำอย่างไร เราไปถึงก็พยายามไปเก็บเอาอารมณ์นั้นออกมา นักแสดงก็เล่นไป เราแค่เอากล้องไปเก็บเอาความรู้สึกเหมือนว่ามันไม่ได้ถูกดีไซน์ มันไม่ถูกบอกไว้ก่อนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่าไปทำงานกันตรงนั้นเลยจริงๆ ผมรู้สึกว่ามันจะสดใหม่ และสนุกกับการทำงานแบบนี้

งั้นพี่ช่วยเลา่ให้ฟังหน่อยว่า การทำงานแบบนี้มันต่างจากแบบเดิมๆ ยังไง
นนทรีย์ : การทำงานแบบในหนังเรื่องนี้เป็นในลักษณะที่เราไม่ได้กำหนดอะไรมาก่อนเลย นอกจากเรื่องคร่าวๆ ว่ามันจะเป็นอย่างไร สคริปต์ก็เขียนขึ้นมาคร่าวๆ ว่าวันนี้ต้องไปทำอะไรที่ไหน แต่อารมณ์ ความรู้สึก หรือสีหน้า เรื่องราวที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นสดๆ ตอนเขาอยู่ตรงนั้นแล้ว เขาจะรู้สึกอะไรก็รู้สึกไป ผมก็แค่นั่งดูแล้วก็บอกแค่ว่ามันมากหรือมันน้อย มันดังหรือมันค่อย มันเร็วหรือมันช้าเท่านั้นเอง มันจะอิสระ แล้วบทหนังเราเปลี่ยนทุกวันไปตามสถานการณ์ แม้แต่คำพูดก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย วันนี้เขาเล่นฉากนี้ไว้แล้วอารมณ์มันอาจจะเปลี่ยนไปจากบทภาพยนตร์เดิม พรุ่งนี้มันก็จะต้องถูกเปลี่ยนให้เท่ากับของวันนี้ ทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เราไม่ได้กำหนดอะไร เพียงแต่พยายามที่จะคอนโทรลบางอย่างให้มันอยู่ในล่องในลอยในการเล่าของเราเท่านั้นเอง

อย่างนี้ถือว่า พี่อุ๋ย หลุดจากกรอบของการทำงานแบบเดิมๆ มาแล้วใช่หรือเปล่า แล้วอะไรที่เป็นนนทรีย์ ที่ยังอยู่ในหนังเรื่องนี้
นนทรีย์ : ผมก็รู้สึกว่าหลุ่ดมาจากการทำงานแบบเดิมเหมือนกัน คือถ้าย้อนกลับไปดูหนังของผมทุกเรื่องจะเห็นว่า มักจะวนเวียนถึงเรื่องศาสนา เกี่ยวกับเรื่องของพระ คน เห็นว่าความดีความเลวคืออะไร ผมก็ไม่ทราบ ไม่เคยคิดจริง ๆ จัง ๆ ว่าทำไมมันถึงได้เกี่ยวข้องเป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง ทุกเรื่องต้องมีการบวช (หัวเราะ) ผมไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่า ตัวเองคิดอย่างไร คงต้องรอให้นักวิจารณ์หรือคนที่เฝ้ามองงานเรามาพูดให้ฟัง เพราะโดยการทำงานของผมก็ไม่ได้กำหนดตั้งแต่ต้นว่า จะต้องทำหนังที่พูดถึงเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องเดียว หรือเป็นแก่นสารมันมากนัก อยากจะทำอะไรที่มันกระตุ้นแล้วมันรู้สึกอยากทำ แต่ทุก ๆ ครั้งที่มันกระตุ้นมักเป็นทำนองนี้มาตลอด

 แสดงว่าหนังของพี่อุ๋ย ก็เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดของพี่ที่ต้องการจะบอกซิครับ
นนทรีย์ : ครับ ส่วนใหญ่แล้วเราจะมีบางสิ่งที่อยากจะบอกออกมา อย่างหนังเรื่องนี้ผมไม่อยากพูดให้มันแข็งแรงมาก ๆ ว่าเรากำลังจะพูดถึงแนวคิดทางศาสนาอะไรทำนองนี้ ผมเพียงรู้สึกกับมัน แล้วเมื่อรู้สึกอย่างไรก็พูดไปตามความรู้สึก แต่ว่าจะบอกว่ากระตุ้นให้คนเกิดศรัทธาในพุทธศาสนามากขึ้น หรือเกิดการเปรียบเทียบในศาสนาต่าง ๆ นี่ไม่ใช่เลย มันไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น แค่อยากจะถ่ายทอดความคิดบางมุมเท่านั้นเอง เหมือนกับว่า คนไทยเนี่ยเจ้าแห่งพิธีกรรมจริง ๆ วันเกิดก็ทำบุญตักบาตร ขึ้นบ้านใหม่ก็นิมนต์พระมาทำบุญที่บ้าน ยึดถือเอาฤกษ์เอาชัย เอาเรื่องมีมงคลเข้ามาสู่ในชีวิต แต่จริง ๆ แล้วรูปแบบเหล่านั้นสังเกตได้เลยว่า เมื่อเรานิมนต์พระมา 9 รูป ทำบุญออฟฟิศ ขึ้นบ้านใหม่ หรือวันเกิด ท่านก็สวดของท่านไป 45 นาที ฟังไม่รู้เรื่องเลย ผมแค่รู้สึกแบบนั้นว่า 45 นาทีผมฟังไม่รู้เรื่องว่าท่านพูดอะไรเพราะท่านก็สวดเป็นภาษาบาลีของท่านไป เสร็จ 45 นาทีเราก็ถวายอาหาร ท่านก็ฉัน พอฉันเสร็จ เราก็กวดน้ำ ทำอะไรก็แล้วแต่ แล้วท่านก็สวดอีกรอบหนึ่ง จนกระทั่งท่านกลับไป เราก็รู้สึกอิ่มเอมในการได้ทำบุญ แต่ถ้าถามว่าในการประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ เราได้รับรู้เรื่องราวหรือความคิดของพระพุทธเจ้าหรือศาสนาเพิ่มาขึ้นไหม นั้นคือพิธีกรรมล้วน ๆ แค่นั้นเองที่ผมรู้สึก จริงๆ แล้วพุทธศาสนาพูดว่าอะไรละ พระพุทธเจ้าท่านพูดว่าอะไร ท่านก็ไม่ได้บอกนี่ครับว่าคนเรามันต้องบวชนะ แล้วไอ้ความไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างที่ท่านพุทธธาตุพูดมันอยู่ที่ตรงไหน ท่านพุทธธาตุเคยบอกว่าไม่ว่าท่านจะท่องตำรามากมายแค่ไหน ถ้าไม่ได้สัมผัสกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วได้ไตร่ตรองด้วยตัวของคุณเอง จนคุณเข้าใจถึงความหลุดพ้นของมันจริง มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปอ่านตำรามากมาย เพราะฉะนั้นการที่พระองค์หนึ่งบวชมาอยู่ในพุทธศาสนามาเป็นเวลา20กว่าปีเกือบ 30 ปี ต้องออกมาผจญโลก นั่นแหละเป็น moment ที่เหมือนกับที่ผมคิดว่าเขาก็อยู่ตรงนั้นมา20 กว่าปีแล้ว ถามว่าเขารู้จักอะไรกับพุทธศาสนาจริง ๆ เมื่อได้ออกมาผจญโลกอีกตั้งหากเขาถึงได้เห็น เขาถึงเปรียบเทียบ เขาถึงสามารถเห็นความแตกต่างว่า อ๋อ… คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้นะ ผู้คนเขาคิดอย่างนี้ ผู้คนก็ทำ และประกอบพิธีกรรมไปตามเรื่องตามราว ไม่ว่าจะเป็นดูหมอ ขอหวย ทำบุญกระดูก ทุกคนมีพิธีกรรมที่เรียกว่าเป็นพุทธศาสนา แต่จริง ๆ แล้วใช่เหรอนี่เป็นพิธีกรรมของพราหมณ์รึเปล่า อะไรอย่างนี้รึเปล่า นี่แหละผมพยายามจะพูดถึง ซึ่งไม่ได้แข็งแรงขนาดที่ว่าจะฟันธงว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เพียงแต่ว่ายกตัวอย่างให้ฟังว่าเราเคยนึกถึงมุมนี้ไหม เราเคยมองพุทธศาสนาในเรื่องนี้ไหม แล้วถ้าเกิดไปตรงใจ ไปกระตุ้นทำให้ใครเกิดหันมามองอย่างผมบ้าง

ฟังดูแล้ว โอเคเบตง นี่น่าจะเครียด
นนทรีย์ : เปล่า…ผมไม่อยากเล่าเรื่องนี้แบบซีเรียส ตอนเรานั่งทำบท ทำพล็อตเราสนุกกับมันมาก ฉะนั้นความรู้สึกที่ได้จากการคุยกันคือความสนุกสนาน เราพูดถึงคนทีไม่เคยนุ่งกางเกงในเลยมาตลอดชีวิต เป็นเวลา10 ๆ ปี.แล้วเขามานุ่งกางเกงใน แล้วเขาจะเป็นอย่างไร เราพูดกับอีกหลายๆ แง่มุมกับคนที่ไม่เคยรู้อะไรเลย กับคนที่บวชอยู่ในป่าแล้วไม่เคยเห็นความศิวิซ์ของโลกเลยว่าเป็นอย่างไร นั่นคือเหตุผลหนึ่งเหมือนกันนะที่ผมไม่เลือกกรุงเทพ เพราะมันอาจจะ contrast มันอาจจะเกิดความแตกต่างมากเกินไป เราก็เลยเลือกกลางๆ เลือกโลกสมมุติ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องเป็นต่างจังหวัด ไอ้ความเป็นดราม่าก็คือนี่แหละ แต่ในแง่ของคอมิดี้เราอยากถ่ายทอดให้คนดูสึกยิ้ม ๆ ขำ ๆ แต่คงไม่ได้ปล่อยเสียงหัวเราะแบบฮาตรึม เพราะเราเองไม่ได้บอกว่าหนังเรื่องเนี่ยต้องดูไป แล้วจะต้องเกิดอาการขำมากมาย แต่ผมรู้สึกว่าการที่ได้เห็นหนังสักเรื่อง แล้วเกิดความรู้สึกยิ้ม ๆ เกิดความรู้สึกดีกับมันเนี่ย เขาอาจจะประทับใจ เออ…มันมีแง่คิดอะไรรึเปล่า เมื่อเขามีความรู้สึกจากการได้รับชมภาพยนตร์ มันอาจจะเกิดแง่คิดบางอย่างง่ายกว่า เปิดใจรับได้มากกว่า ผมคิดแค่นี้เอง แล้วในส่วนของดราม่าที่เกิดขึ้นเนี่ย มันก็ไม่ได้ดราม่าอะไรไปมากกว่าการแค่เก็บเกี่ยวความคิดของรู้สึกมาถ่ายทอดว่า เขาคิดยังไง เขารู้สึกอย่างไร มันก็มีความรู้สึก มีอารมณ์มากกว่าที่ผมเคยเล่าเท่านั้นเอง

แสดงว่าเราจะได้เห็นดราม่า คอมมิดี้ในหนังเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าเรื่องของความแตกต่างจะเป็นแก่นสำคัญของเรื่องเลยหรือเปล่า
นนทรีย์ : อันนี้คือส่วนหนึ่งที่คิดมาเลย คิดก่อนที่จะนึกออกด้วยซ้ำว่าจะทำหนังเรื่องอะไร เพราะเริ่มที่จะอิ่มตัวกับการไปจับจ้องรูปแบบวัฒณธรรมประเพณีแล้ว แต่ตอนนี้เราเอารูปแบบ และสิ่งที่เป็นประเพณีมาเปรียบเทียบ พูดถึงในอีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อก่อนผมจะคล้อยตามความคิดที่มีมาโดยตลอด จนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับความจริงของชีวิต มันก็เกิดความรู้สึกในตัวเองอีกด้านหนึ่ง ในความคิดที่แปลกแยกไป ภาพที่มันเปรียบเทียบเริ่มเห็นชัดขึ้นทุกวัน โดยคนในยุคปัจจุบันมักจะละเลย และเราเองก็ไม่ได้บอกว่าคุณต้องหันกลับมามองศาสนาอย่างจริงจังนะ ผมรู้สึกว่าวันหนึ่งผมก็ถูกกระตุ้นแบบนี้ วันหนึ่งผมก็ได้คิดแบบนี้ บางทีมันก็เกิดความคิดง่าย ๆ โดยมดตัวหนึ่งเท่านั้นเอง บางทีเราจะอาบน้ำแล้วเห็นมดมันอยู่ในอ่างในขณะที่เราจะสีฟัน เมื่อก่อนเราก็จะปิดน้ำหยิบมดขึ้นปล่อย แต่เดี๋ยวนี้ทำไมจิตใจผมหยาบขึ้น ผมก็ถูฟัน ก็ปล่อยน้ำให้มันไหลโดนตัวมดตายไป ผมจับต้องตัวเองได้เลยว่า เฮ้ย…อะไรทำให้จิตใจเราหยาบขึ้น เพราะอะไร อ๋อ…เพราะว่าเวลาเรามีเวลาน้อย เราไม่สามารถมีเวลาพอจะหยิบมดออกไป เพราะว่ามันไม่ทันแล้ว เวลาทุกอย่างมันกระชับขึ้น ทุกอย่างมันต้องปากกัดตีนถีบ ต้องดิ้นรน นี่แหละทำให้จิตใจของคนที่เคยละเอียดอ่อนจางหายไป เมื่อก่อนผมพยายามจับเอาความรู้สึกเดิมๆ ที่ถวิลหาอดีตมาพูดถึงเรื่อยๆ แต่วันนี้มันค่อนข้างจะต้องพูดกันตรงไปตรงมานิดนึง เลยพยายามหาความแตกต่าง เอาความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นทางความคิด ทางความเป็นอยู่ ทางไลฟ์สไตล์ ทางชีวิตทั่วไป ของแต่ละบุคคลเอาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ว่ามันเป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วมันก็เป็นการพูดตรง ๆ โดยที่อาศัยความเป็นคอมิดี้ มีรอยยิ้มแบบคนไทยมาเป็นตัวเล่าเรื่องให้เกิดความสนุก แล้วถ้าคนดูตามเรื่องด้วยความสนุกสนานเขาก็จะเห็นเองว่าเราจะพูดอะไรในความชัดเจนนั้น

ทุกอย่างเป็นความแตกต่างหมด งั้นพี่อุ๋ยพอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าความแตกต่างแบบไหนที่พี่ใส่ไว้ในหนังให้คนดูได้ดู ได้คิดกันบ้าง
นนทรีย์ : เราพยายามหาอะไรที่มันสุดขั้ว ถ้าจะพูดกันจริงๆ ความเป็นพระกับความเป็นคนมันก็สุดขั้วอยู่แล้ว ความเป็นพระกับชีวิตกลางคืนมันก็สุดขั้ว ในความสุดขั้วมันก็มีชีวิตในเรื่องของความเป็นคนอีก ถ้าจะยกตัวอย่างในหนังก็คือ พระในเรื่องนี้จะต้องไปเจอกับสภาพแวดล้อมที่เป็นกลุ่มนักร้อง กลุ่มนักร้องที่มีรูปแบบในการขายสรีระ ฉะนั้นเขาจะต้องมาเจอกับคนแต่งตัวโป๊ ๆ วับแวมๆ โอ้โห…มันจะ contrast ละ และในความวับๆ แวม ๆ เนี่ย เราก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงกลุ่มคนพวกนี้ว่าเขาทำอย่างนั้นทำไม ทางเลือกหรือโอกาสของคนเหล่านั้นมีมากมายนักเหรอ อันนี้เราก็จะหยิบยกมาพูดถึง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ใช้เอาแค่ความแตกต่างระหว่างคนที่โป๊มาก ร้อนแรงมาก กับคนที่เยือกเย็นมากมาพูดถึง เราพยายามจะหยิบเอาสภาพชีวิตความเป็นจริงของเขามาพูดทั้ง 2 ทาง ถามว่า คนที่บวชเป็นพระจะไม่มีวันที่โกรธใครเหรอ ไม่ใช่หรอก ผมรู้สึกว่าบางครั้งชีวิตแบบนั้นมันอาจขาดสีสันบางอย่างในชีวิต เขาอาจจะเรียกร้องมันอยู่โดยที่เขาไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อเขามาถึงที่นี้แล้ว มันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ twist ตัวเองให้รับเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น มันง่ายกว่าเยอะ เพราะถูกสอนให้เปิดใจที่จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ตัวเขาเองมาแบบเปิด มันจะ absorb กับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนอย่างเราๆ ที่รู้จักอะไรต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก อ๋อ…นักร้องเป็นอย่างนี้ โสเภณีเป็นอย่างนี้ บุหรี่เป็นอย่างนี้ เหล้ายาเป็นอย่างนี้ เราอาจจะได้ยินได้ฟังมากกว่าคนที่อยู่ทางโน้น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาไม่รู้ ก็เลยไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี จะรู้ว่ามันดีหรือไม่ดีก็ต่อเมื่อเขาได้สัมผัส อันนี้ต่างหากที่มันน่าสนใจ และเราก็ไม่ได้ให้เขาสัมผัสเพียงแค่ด้านเดียว เราก็พยายามให้เขาได้สัมผัสในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เป็นนักร้อง ผมคิดว่าเขาเองก็คงอยากรู้ว่าทำไมถึงมาเป็นนักร้องนะ การมาเป็นนักร้องมันสนุกตรงไหน หรือเป็นนักร้องแล้วรายได้ดี แล้วจริงๆ ลึกๆ เขาเป็นอย่างไร หรือมีโอกาสในชีวิตมากน้อยขนาดไหน เขาเลือกมาจริงๆ รึเปล่า หรือเขาไม่มีทางเลือก ตรงนี้ที่มันน่าสนใจ ผมพยายามทำให้คนๆ หนึ่งในหนังไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์ใดก็ตาม ให้เขาเป็นคนที่มีทุกๆ ด้าน ทำไมละ…คนพาลใส่บาตรไม่ได้เหรอ คนพาลรักพ่อรักแม่ไม่ได้เหรอ นี่แหละที่เราพยายามไม่นำเสนอใครคนใดคนหนึ่งในด้านใดด้านหนึ่ง แม้กระทั่งการเปลี่ยนศาสนาในหนังเรื่อง มันมีคนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อความรักด้วยการเปลี่ยนศาสนาเพราะอะไร เหตุผลอะไร และนี่คือการเสียสละหลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้นมันจะมีหลากรูปแบบให้ชายคนนี้ได้ค้นพบในหนังเรื่องนี้


Share this article :

แสดงความคิดเห็น