Home » » 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร

2022 สึนามิ วันโลกสังหาร


2022 สึนามิ วันโลกสังหาร

 

ไม่มี…การเตือน…ล่วงหน้า

ไม่มี…ตึกระฟ้า…ให้หลบภัย

ไม่มี….โอกาสครั้งใหม่…ให้แก้ตัว

จงมองหาที่สูงไว้ แต่แน่ใจได้ยังไง….ว่าคุณจะรอด!!

มหันตภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดกำลังจะเกิดขึ้น

พบกับการกลับมาของผู้กำกับมือรางวัลตุ๊กตาทอง ทรนง ศรีเชื้อ

กับหายนะครั้งใหญ่ที่คนไทยต้องเจอ

เมื่อคลื่นยักษ์….ยกตัวสู่….มหานครกรุงเทพฯ

ภาพยนตร์ที่คุณไม่ควรพลาด

ก่อนที่คุณจะเผชิญกับเหตุการณ์จริง

30 เมษายนนี้ ทุกโรงภาพยนตร์

เนื้อเรื่องย่อ: ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรีไตรภพ” ได้จัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติ ภายใต้การดูแลของ “ด๊อกเตอร์สยาม” ทำหน้าที่คาดการณ์ภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นการคาดการณ์ภัยพิบัติของด็อกเตอร์สยามอย่างมาก แต่ด็อกเตอร์ก็ทำพลาดในการเตือนภัยแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งหนึ่ง เขาถูกประณามพร้อมกันนั้นอนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีก็สั่นคลอน แต่แล้ว มีมหันตภัยสึนามิเข้าถล่มใจกลางกรุงเทพมหานครอย่างย่อยยับ พวกเขาจะมีรับมือกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่นี้อย่างไร แรงศรัทธาจะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากหายนะครั้งนี้หรือไม่ หรือธรรมชาติเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินและชี้ชะตา

นักแสดง:

พิศาล ศรีมั่นคงภูเก็ต 
สิรินดา เจนเซ่นซินดี้ 
ภาณุเดช วัฒนสุชาติไตรภพ 
สุเชาว์ พงษ์วิไลด๊อกเตอร์สยาม 
ชุมพร เทพพิทักษ์ 
ชลิต เฟื่องอารมณ์สมชาติ 
นิชาภา ประกรณ์กิจวัฒนาพีพี 
ปริญญา วงษ์ศิลป์ราไว 

ความยาว: 99 นาที
วันที่เข้าฉาย: 30 เมษายน 2552

ดูหนัง 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร

ทีมงานสร้าง: Disaster Adventure-แนวภัยพิบัติ (แนวภาพยนตร์) / บริษัท ทเว็นตี้จูน เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และโรงถ่ายภาพยนตร์ ทรนง สตูดิโอ (บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย) / นิสา ตั้งสิริสัมฤทธิ์, ทรนง ศรีเชื้อ (อำนวยการสร้าง) / ทรนง ศรีเชื้อ (ผู้กำกับภาพยนตร์) / ทรนง ศรีเชื้อ (บทภาพยนตร์) / ศรายุทธ สุทธยาพร (กำกับภาพ) / วิทยา อำไพพรรณ (กำกับศิลป์) / มานพ เจนจรัสกุล (ลำดับภาพ) / สยามพัฒนาฟิล์ม (คอมพิวเตอร์กราฟฟิก) / ยูนิแมคซ์ ซาวน์แทร็ค (ดนตรีประกอบ) / ปริญดา วงษ์สุกรรม (ออกแบบเครี่องแต่งกาย) / ปริญดา วงษ์สุกรรม (แต่งหน้า) / ธีรยุทธ์ จันทรวงศ์กิจ (ทำผม)

“สึนามิ” ภาพหายนะครั้งยิ่งใหญ่และรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโลก จากฝืมือผู้กำกับมือรางวัล ทรนง ศรีเชื้อ ที่ใช้เวลาบ่มเพาะนานกว่า 3 ป

ก่อนวันที่ 26 ธันวาคม 2004 (พ.ศ.2547)

…คุณเคยคิด…หรือเชื่อมาก่อนหรือไม่ว่า

จะเกิดภัยพิบัติสึนามิ ที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ของประเทศไทย

…และถึงวันนี้ คุณคิดว่า จะมีเหตุการณ์

“สึนามิ” เกิดขึ้นกับคนไทยอีกหรือไม่???

…ภาพยนตร์เรื่อง “2022 สึนามิ วันโลกสังหาร” ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอกย้ำความเจ็บปวดอันโหดร้ายของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากมหันตภัยทางน้ำครั้งใหญ่ที่เคยสร้างความสูญเสียให้กับเมืองไทยและทั่วโลกในครั้งอดีต จนถูกจารึกว่าเป็นภัยทางธรรมชาติ ที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง และหนักหน่วงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสาตร์ของมวลมนุษยชาติ

…มีประชาชนมากกว่า 300,000 คน ต้องสังเวยชีวิตให้กับคลื่นยักษ์ “สึนามิ” และกว่า 1,000,000 คน ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ…ภัยพิบัติที่สร้างมูลค่าความเสียหายมากมายมหาศาลจนไม่สามารถจะประเมินค่าได้

…แต่ภาพยนตร์เรื่อง 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร พูดถึงมหันตภัยครั้งใหญ่ที่สุด ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคนไทย และเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่ใครหลายคนไม่เคยคาดการณ์มาก่อน ผ่านผลงานการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์ของ ทรนง ศรีเชื้อ ผู้กำกับมือรางวัลตุ๊กตาทองที่เคยฝากผลงานหลากหลายแนว สู่หนังไทยมาแล้วนับไม่ถ้วน ครั้งนี้เขากลับมาอีกครั้งกับการค้นคว้าวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนกลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกจะต้องจารึก

“ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องชั้นบรรยากาศของโลก เรื่องภูเขาไฟ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ระหว่างที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นในเมืองไทยจริงๆ ผมเลยตัดสินใจว่าผมจะทำหนังสิ่งแวดล้อมโลกโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทย ก็คือการเคลื่อนไหว การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แถวอินโดจีน แถวแปซิฟิก แถวทะเลอันดามัน เป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร ซึ่งจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ในอนาคตในอีก 13 ปีข้างหน้า คือใน พ.ศ. 2565 หรือปี ค.ศ. 2022 แต่จะเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร”

…ความเป็นไปได้ที่จะเกิดหายนะขึ้นกับกรุงเทพฯ ถูกรวบรวมเป็นข้อมูลทั้งทางวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ และคำทำนาย ผ่านผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงวิชาชีพ ก่อนจะถูกถ่ายทอดลงในบทภาพยนตร์ ออกมาเป็นภาพสุดสะเทือนขวัญ เกลียวคลื่นยักษ์ถาโถมมุ่งหน้าฉุดร่างของคนไทยนับล้านคนไปอย่างชนิดที่ไม่มีวันรู้ตัว

“มีผู้รู้ นักวิชาการหลายท่านที่ผมเดินทางไปถามไถ่ อย่างเช่น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผมก็ไปเรียนถามท่าน ดร.สมิทธ ครับ ยังงี้ๆ มันจะเกิดขึ้นจริงไหม ท่านก็บอกว่าที่คุณรู้มันถูกต้องแล้วมันเกิดขึ้นจริง แต่เราไม่รู้ว่าจะเกิดวันไหน มันจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน แต่จะท่วมด้วยสึนามิหรือจะท่วมด้วยอะไรก็แล้วแต่ น้ำทะเลจะสูงขึ้นแผ่นดินกรุงเทพทรุดตัวลง รอยเลื่อนสะแกกรัง รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์แตกแยก ทำให้เขื่อนแตก น้ำท่วมกรุงเทพ นครปฐม ราชบุรี มันมีทางที่ทำให้กรุงเทพจมน้ำหลายทางมากนั่นคือ ข้อมูลจาก ดร.สมิทธ ในขณะเดียวกัน ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ผมก็ไปนั่งเรียนปรึกษา ท่านก็บอกว่ามันมีภูเขาไฟใต้น้ำอยู่แหลมยวน ลูกนี้เราตามกันมา 20 ปีแล้ว ผมก็ถามว่าแล้วถ้ามันระเบิดแล้วเป็นไง ถ้ามันระเบิดกรุงเทพเราจะเกิดสึนามิ แต่เปอร์เซ็นต์น้อยมาก ผมเลยเอาภูเขาไฟที่แหลมยวนมาเอ่ยถึงในหนังเรื่องสึนามิ หรือแม้แต่ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผมก็ศึกษาจากความรู้ที่ท่านพูด ไปอภิปรายตามที่ต่างๆ

นอกจากผู้รู้เหล่านี้ ผมไปเจอพระธุดงค์ที่เคารพเลื่อมใส น่าเชื่อถือ ท่านพูดถึงโลกยุคศรีอารย์ น้ำจะท่วมโลก ไฟจะไหม้โลก พระอธิบายว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาครบ 5000 ปีมันต้องเป็นอย่างงี้ๆ และนี่มันก็ถึงช่วงเวลาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว โลกเราเคยร้อนสุด เคยเย็นสุด เคยน้ำเต็มโลก เคยโลกไม่มีน้ำ มันจะเป็นหมดทุกอย่าง และมันจะวนเวียนไปอย่างนี้ ซึ่งตอนนี้ก็และถึงเวลามันกลับมาแล้ว ซึ่งพระพุทธศาสนาก็พูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจน

 

…จากข้อมูลในทุกศาสตร์ทุกแขนง สรุปเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงกัน คือ วันหนึ่งจะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือหายนะจากภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย จึงเข้าทางกับแนวคิดของผู้กำกับทรนง ที่ต้องการถ่ายทอดความโกรธแค้นของมหันตภัยพิบัติ ต่อผู้คนที่กำลังทำลายธรรมชาติ และสังคมที่เสื่อมทรามลงทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองหลวง

“สาเหตุที่ผมไม่ยอมจับบทภาพยนตร์เกี่ยวกับสึนามิปี 2547 มีอยู่เหตุผลเดียว ก็คือ ปี 2547 เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนเจ็บปวดและจำมันได้แล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงอยากสร้างภาพที่น่าขนพองสยองเกล้า น่ากลัวยิ่งกว่านั้นที่ทุกคนยังไม่เคยเจอ ซึ่งสึนามิเมื่อปี 2547 เป็นสึนามิที่น่ากลัว แต่ผมเชื่อว่ามันมีสึนามิที่น่ากลัวกว่านั้น นั่นก็คือภาพที่ผมสร้างขึ้นมาให้ผู้คนได้ตระหนักในสิ่งแวดล้อมโลกที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราไปสร้างหนังว่า สึนามิ เกิดขึ้นที่เกาะๆ หนึ่ง มีชาวเกาะ มีชนพื้นเมืองรับรู้เรื่องสึนามิ มันไม่มีผลอะไรเลยกับสังคม ผมจึงทำเรื่องนี้ให้คนเมืองที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับธุรกิจ วันๆ หมกมุ่นอยู่กับการชิงหาผลประโยชน์ และคนในเมืองหลวงเหล่านี้เองที่เป็นคนทำลายสิ่งแวดล้อมโลก เพราะฉะนั้นคนที่ควรได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมโลกก็คือคนในเมือง ดังนั้นสึนามิถึงเข้าเมืองหลวง นี่คือเหตุผลใหญ่”

…กว่า 3 ปี ที่ทรนง ใช้เวลาทั้ง 24 ชั่วโมงของตัวเอง หมดไปกับการค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทภาพยนตร์ รวมถึงขั้นตอนการผลิตทุกขั้นตอน และที่กินระยะเวลายาวนานที่สุดคือขึ้นตอนการถ่ายทำที่เขาใช้เวลาถึง 2 ปี ตากแดดหน้าดำในกองถ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าภาพที่ออกมานั้นยิ่งใหญ่ สมจริง

“ผมใช้เวลาในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ประมาณ 1 ปี ใช้เวลาเตรียมงานอยู่ประมาณครึ่งปี ใช้เวลาถ่ายทำเบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 2 ปี สาเหตุที่ 2 ปี เพราะสร้างฉากไม่เสร็จ ทำมันพัง แล้วก็สร้างขึ้นมาใหม่ แล้วทำมันพังแล้วรอเวลาให้มันเจอหน้าร้อน ตรงนี้ต้องเขียว ตรงนี้ต้องมีน้ำ ต้องมีฝน ต้องรอฤดูกาล อีกอย่างที่รออย่างใจเย็น คือเราสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ควบคู่กันไป”

เนรมิตฉากตระการตาและหายนะ ในสตูดิโอถ่ายหนังที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียบนพื้นที่กว่า 35,000 ไร่

…ภาพของหายนะที่ยิ่งใหญ่ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดวัตถุดิบในการผลิต ทรนง ศรีเชื้อ ผู้กำกับและเจ้าของโปรเจ็คยักษ์ จึงใช้พื้นที่กว่า 35,000ไร่ ใน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้ชื่อ “ทรนงสตูดิโอ” เป็นที่ปักหลักของทีมงานและนักแสดงกว่าร้อยชีวิต เพื่อถ่ายทำ “2022 สึนามิ วันโลกสังหาร” ซึ่งสตูดิโอแห่งนี้เป็นความภูมิใจและน้ำพักน้ำแรงของทรนง ที่ทุ่มเทและผลักดันโปรเจ็คนี้อย่างต่อเนื่องมาหลายปี จนในที่สุดเขาก็สามารถสร้างโรงถ่ายทำภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่มีมูลค่าเป็นพันล้านแห่งนี้ได้ ซึ่งแรงบันดาลใจของเขาก็มาจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะอยากจะสร้างภาพยนตร์ในแบบฉบับที่เขาต้องการอย่างแท้จริง

“ผมอยู่ในวงการภาพยนตร์มา 30 ปีตั้งแต่อายุ 24-25 ผมรู้ว่าการสร้างภาพยนตร์ต้องใช้เม็ดเงินสูง ใช้เงินเป็นสิบๆ ล้าน เพราะฉะนั้นการต่อรองกับอำนาจนายทุนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ก็เลยมีความเชื่อว่าน่าจะหาเงินทำหนังเอง เขียนบทที่ตัวเองอยากทำ สร้างเรื่องที่ตัวเองอยากทำ มีวิธีเดียวก็คือ ต้องหาเม็ดเงินเป็นก้อนใหญ่ และวิธีที่จะสร้างเม็ดเงินก้อนใหญ่ก็คือสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ ด้วยเหตุผลนี้ผมถึงมุ่งมั่นจะสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เพื่อจะผลิตภาพยนตร์เอง การผลิตภาพยนตร์เองมีเหตุผลเดียวเพื่อจะสร้างเรื่องที่ตัวเองอยากสร้าง เพราะฉะนั้นต้องอาศัยแรงบันดาลใจเยอะแยะมาก”

…ฉากต่างๆ ที่ทีมงานได้เนรมิตขึ้นมาในโรงถ่ายภาพยนตร์ล้วนแล้วแต่เป็นฉากที่กว้างขวาง ใหญ่โต อลังการ และแน่นอนนั่นหมายถึงเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่ใช้ในการลงทุน โดยเฉพาะฉากที่เกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม เพราะมันคือการสร้างฉากเพื่อทำลาย สุดท้ายสิ่งก่อสร้างที่สวยงามในฉากต่างๆ ก็ต้องพินาศย่อยยับไป บางฉากใช้เวลาในก่อสร้างตกแต่งเป็นเดือนๆ แต่กลับทำลายมันเพียงแค่ชั่วพริบตาเดียว

“ฉากศูนย์เตือนภัยเป็นฉากที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุด ผมสร้างศูนย์เตือนภัยทั้งศูนย์ ใช้เงินเป็นล้าน เสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็พังมันทุกวันนี้แม้แต่ตะปูตัวเดียวยังไม่อยู่เลย ตอนแรกกะจะเก็บไว้ แต่ถ่ายไปถ่ายมามันเริ่มที่จะพังจริงๆ ก็เลยพังมันจริงๆหมดเลย ในศูนย์เตือนภัยใครดูแล้วจะเห็นว่าเหมือนจริง เพราะเราสร้างทุกอย่างเหมือนจริง จอภาพจอคอมพิวเตอร์ทุกอย่างของจริงหมด”

…นอกจากจะก่อสร้างฉากบนบก ทรนง ยังฝืนธรรมชาติ สร้างฉากใต้ทะเลเหมือนจริงในพื้นที่ขนาดใหญ่ และลึก เพื่อใช้แทนฉากที่จะต้องดำน้ำในทะเล ซึ่งก็จะประกอบไปด้วยปะการัง ที่ถูกเนรมิตขึ้นมาด้วยความวิจิตรงดงาม แต่แล้วฉากสวยๆ เหล่านั้นก็ถูกธรรมชาติ (ของจริง) เล่นงาน เมื่อพายุทอนาโดเข้าถล่มกองถ่ายจนทำให้ฉากนี้ได้รับความเสียหาย

“เราเคยพยายามไปถ่ายฉากดำน้ำที่ทะเลแล้วสุดท้ายไม่เวิร์ค ทีนี้ผมก็เลยมาสร้างสระน้ำราคาเป็นล้าน รู้ว่ามันใช้เงินทิ้งน้ำแน่นอน เราก็ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ลึก 7 เมตร แล้วก็เทปูนหมดไปเป็นตันๆเ เสร็จก็ให้ฝ่ายศิลป์เอาปะการังเทียมมาลง อัดแน่นเต็มบ่อ แค่ปะการับเทียมอย่างเดียวก็ใช้เงินเป็นล้านเลย ยืนดูเมื่อไหร่ก็ภูมิใจสุดๆ สุดยอด สวย แล้วเราก็ใส่น้ำประปาลงไป ถ้าใครว่ายน้ำไม่เป็น ลงไปในบ่อก็ตายอย่างเดียว เพราะมันลึก แล้วข้างล่างมันก็ระเกะระกะด้วยปะการัง

แต่ดวงเราไม่ดี ก่อนวันที่เราจะถ่ายประมาณ 2-3 วัน พายุมา พายุทอนาโดลงโรงถ่ายเราแล้ว จากน้ำใสก็กลายเป็นน้ำขุ่นแบบมองไม่เห็น เราก็เสียใจมากแต่ฝ่ายศิลป์ก็แนะดี ไปซื้อสารส้มมาเป็น 1000 กิโล สารส้มปกติเนี่ยชาวบ้านใช้ก้อนเดียวกวนกันได้ทั้งปี แต่เราซื้อมาเต็มคันรถกระบะเลย มาใส่ในบ่อแล้วก็กวนใช้เวลา 2 วัน ใสเป็นกระจก คนเอามือจุ่มลงไปดึงเอามือขึ้นมาหนังลอกได้เลย นักแสดงลงไปขึ้นมาไม่ทัน ตาจะบอดเอา สัตว์นี่อยู่ไม่ได้เลยนะ จากวันนั้นถึงวันนี้ 7 เดือนแล้วมันยังเปรี้ยวอยู่เลยทุกวันนี้”

…และเพื่อสร้างภาพของความยิ่งใหญ่และสมจริงยิ่งขึ้น ยานพาหนะลำโต จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับฉากใหญ่ๆ ในเรื่อง ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ ทั้งเฮลิคอปเตอร์ของทหาร โรงพยาบาล ที่จะเห็นได้ในฉากกู้ภัยหลายฉาก และเรือเดินสมุทรลำโต ซึ่งจะเห็นได้จากฉากท้องทะเล ฉากสำรวจทะเลและรอยเลื่อนใต้ทะเล ทรนง จึงยกกองถ่ายขนทีมงานกว่าร้อยชีวิต บุกทะเลด้วยเรื่องสำรวจทะเลขนาดใหญ่ของจริงที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเรื่อ ซิฟเดค ซึ่งเป็นเรื่อของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SOUTH EAST ASIAN FISHERIES DEVELOPMENT CENTER ที่เรียกกันโดยย่อว่า ซีฟเดค (SEAF DEC) เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้สนธิสัญญารวม 10 ประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครจะเข้าไปใช้พื้นที่ทำงานบนเรือซิฟเดคได้ แต่แม้จะต้องเสียงบประมาณต่อวันกว่าครึ่งล้าน ทรนงก็ต้องทุ่ม ในที่สุดภาพยนตร์ “2022 สึนามิ วันโลกสังหาร” ก็สามารถทะยานอยู่บนน่านน้ำทะเลบนเรือสำรวจทะเลที่ยิ่งใหญ่ และได้ภาพออกมาสวยสมใจ ถือเป็นการใช้พื้นที่ที่คุ้มค่าที่สุด

“ยานพาหนะประกอบฉากก็เป็นเรื่องยุ่งยากกับหนังเรื่องนี้พอสมควร เราต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ต้องไปเช่าเฮลิคอปเตอร์ หลายๆลำ ไม่ว่าจะเป็นของทหาร ของโรงบาลกรุงเทพฯ และก็ต้องสร้างเฮลิคอปเตอร์ปลอมเพื่อใช้ในการถ่ายทำ เพื่อให้นักแสดงสามารถเล่นกับกล้องได้ เราก็ต้องสร้างเครื่องที่เหมือนเครื่องบินจริง อันที่2 คือเรือสำรวจทะเล ตอนแรกเราจะขอเรือมหิดล ซึ่งเป็นเรือสำรวจทะเลที่ลำใหญ่ที่สุดของไทย แต่สุดท้าย เราก็ได้มาลงเอยที่ เรือซิฟเดค ซึ่งเป็นเรือสำรวจทะเลของอาเซียนโดยตรง มีคนไทยเป็นกัปตันและก็เป็นผู้บริหาร เราก็ไปได้เรือลำนี้มา แม้ว่าค่าเช่าเรือจะค่อนข้างสูงมากต่อวัน หลายแสนบาท แต่เราก็ภูมิใจและถือว่ามันคุ้มมากเมื่อเรานำใช้ถ่ายทำภาพยนตร์”

สึนามิ..ภัย “น่ากลัว”…แต่แฝงไปด้วย “คุณค่า”

…ถ้าคุณกำลังคิดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อความสะใจ! ทำขึ้นเพื่อหวังรายได้! หรือทำขึ้นเพื่อเรียกกระแสรักษ์โลก! คุณคิดผิด!! ความฝันของผู้กำกับภาพยนตร์หลายๆ คน รวมทั้งของ ทรนง ศรีเชื้อ เพียงแค่ต้องการถ่ายทอดผลงานและแนวคิดของตัวเองออกไปสู่สายตาคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เรามีหนังสือ มีบทความ มีงานศิลปะ มากมายที่จรรโลงโลก และปลุกเร้าให้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับภาพยนตร์ไทยกลับละเลยที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้

“ผมเป็นคนรักษ์โลก จริงๆ แล้วผมชอบเขียนหนังสือ เขียนบทกวี เขียนรูป ชอบงานประติมากรรม แกะหิน พื้นฐานผมเรียนสถาปัตยกรรม คือศิลปะทั้ง 6 อย่างผมเรียนมาอยู่ในขั้นที่ใช้งานได้ และนี่ทำให้ผมมองโลกในแง่ดี แต่สาเหตุที่ผมมาจับภาพยนตร์แนวนี้ ซึ่งเป็นภาพรวมใหญ่ๆ ซึ่งหนังไทยไม่นิยมที่จะมาจับกันเพราะผมมีความรู้สึกว่า โลกนี้มันไม่ใช่เป็นของประธานาธิบดีอเมริกัน โลกมันไม่ได้เป็นของนายกรัฐมนตรีประเทศใดประเทศหนึ่ง ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทยกับให้ผมเป็นผู้กำกับหนัง ผมดีใจที่จะเป็นผู้กำกับหนังและภูมิใจมากกว่าหลายเท่า เพราะนายกรัฐมนตรีคือผู้บริหารคน 60 ล้านคนในประเทศนี้ แต่ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำงานเพื่อสังคมเพื่อคนทั้งโลก ผมทำงานให้คน 5,000 ล้านในโลกนี้ดู

ใครก็แล้วแต่ที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมทันที ผมยืนยันมั่นใจ 70% คนดูหนังเรื่องนี้จะมีความรู้สึกว่ารักโลกที่เราอยู่ หนึ่งร้อยนาทีที่คุณนั่งดูหนังเรื่องนี้ไม่เสียป่าว ถ้าคุณไปดูหนังที่ให้ความคิดให้ข้อคิด พอออกมาคุณมีความสุขคุณอิ่ม พอคุณขับรถกลับบ้าน คุณคิดได้แล้วละที่บ้านไม่น่าจะเปิดไฟมากขนาดนี้ ไม่น่าจะเปิดน้ำทิ้ง เราควรจะดีกับเพื่อนบ้านนะ เราควรจะช่วยกันนะ ทะเลาะกันแทบตาย พอภัยพิบัติมาเราตายทั้งคู่ มันจะมีประโยชน์อะไร คนไทยทะเลาะกัน แต่พอถึงเวลาโลกแตก ทะเลาะกันเรื่องอะไร แย่งอำนาจซึ่งไม่เคยเป็นของเราได้เลย ถ้าถามว่าทรนงอยากได้อะไรมากที่สุดในโลก อยากให้คน 2 ล้านคนไปดู”

…ทุกสิ่งที่ผมคิดและทำขึ้นมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมอยากให้เป็นแค่ความฝันของทรนง ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้นจริง ถ้าผมต้องล้มละลายเพราะสร้างหนังเรื่องนี้ 160 ล้านแล้วไม่เกิดสึนามิ แล้วประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขไม่เกิดสึนามิ ไม่เกิดภัยพิบัติ และ ทระนง พังคนเดียวตรงจุดนี้ผมยอมรับได้ แต่อย่าให้ผมรวยจากนั้นสึนามิมา ผมไม่เอา มันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากกว่า

 

ผู้ร่วมชะตากรรม เหตุการณ์ สึนามิ ปี 2022

…นักแสดงทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ถูกเรียกมาสมทบในภาพยนตร์ “2022 สึนามิ วันโลกสังหาร” โดยต่างรับรู้ถึงความโหด หิน ที่จะต้องเผชิญขณะถ่ายทำ ทั้งต้องบุกน้ำ ลุยคลื่น ปีนหน้าผา สึนามิซัด ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นฉากที่สร้างความตื่นเต้นสำหรับผู้ชม แต่สำหรับนักแสดง กว่าจะออกมาเป็นฉากที่กระชากใจคนดูได้ ต้องใช้ความกล้า บ้าบิ่น และพร้อมที่จะเสี่ยงอันตรายทุกรูปแบบ ที่พวกเขาได้รับการถ่ายทอดจากผู้กำกับ ทรนง ศรีเชื้อ

ภาณุเดช วัฒนสุชาติ (รับบทเป็น “ไตรภพ”) – นายกรัฐมนตรีหนุ่มไฟแรง บุคลิก ฐานะ รูปร่างหน้าตาดี เป็นคนหัวสมัยใหม่ เด็ดเดี่ยว เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ มากกว่าอำนาจชื่อเสียงของตนเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิ เขาก็ยอมเสียสละและพร้อมที่จะพลีชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน

“นักแสดงที่มารับบทในเรื่อง ก็จะแบ่งเป็นรุ่นใหญ่ กับรุ่นเล็ก ตัวเอกจริงๆ คือบทของ นายกรัฐมนตรี ซึ่งหนังไทยก็ไม่เคยมีใครเอาตำแหน่งนี้มาเล่นเป็นตัวละครที่จริงจัง ผมมีภาพของนายกฯในฝัน ผมเป็นคนชอบบุคลิกของโทนี่แบลร์ ผมนชอบวิถีทางของจอห์น เอฟ. เคนเนดี ชอบสิ่งที่ บิล คลินตัน คิดและก็แสดงออกต่อสังคม และผมเชื่อว่าต้องมีนายกที่เป็นคนดี รูปหล่อ ฐานะดี ความคิดดี ผมก็สร้างตัวนี้ขึ้นมา ก็เลยได้ คุณดุ๊ก-ภาณุเดช วัฒนสุชาติ เขาเป็นนักแสดงที่มีความสามารถสูง สามารถเข้าใจบท แล้วบุคลิกของเขาก็สามารถเป็นผู้นำได้ อีกอย่างเขาก็เป็นแอคติ้งโค้ชในอาชีพจริง ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นผมเลยคิดว่าคุณดุ๊กเหมาะสมที่สุด

ผมให้ความสำคัญกับบทนายกฯมาก และผมกล้าพูดได้เลยว่า เรื่องนี้เป็นหนังไทยเรื่องแรก เรื่องเดียวที่ใช้บทนายกฯ ตั้งแต่ต้นจนจบหนัง บทแบบนี้ไม่มีใครกล้าใส่ แค่พูดถึงนายกรัฐมนตรี พวกตลกบอกหาเรื่องเข้าคุกเหรอ นั้นคือคนไทย แตะรัฐมนตรีหน่อย เฮ๊ย!หาเรื่องเข้าคุกเหรอ แต่ไม่เลย หนังเรื่องนี้ต้องพูด เพราะว่าตำแหน่งของท่าน เป็นตำแหน่งที่ต้องพูดถึงโดยตรง เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้โดยตรง”

 

 

สุเชาว์ พงษ์วิไล(รับบทเป็น “ดร. สยาม”) – นักธรณีวิทยา-อุทกวิทยา ผู้ดูแล ศูนย์เตือนภัยภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย เขามุ่งมันทุ่มเทและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง พยายามพัฒนาเทคโนโลยีและคิดค้นเครื่องมือที่สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนใต้เปลือกโลกก่อนที่มันจะเกิดขึ้น เพื่อเตือนภัยให้กับผู้คน

“ผมชอบคาแร็คเตอร์ของ ดร.สยาม ซึ่งผมต้องยอมรับว่าผมไม่ได้เขียนบท ดร.สยาม มาด้วยจินตนาการนะ ผมไปถอดคาแรกเตอร์ ของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช มาใส่ใน ดร.สยาม ซึ่งก็ขอท่านตรงๆแล้วด้วย ท่านบอกไม่เป็นไร เอาให้สนุก ผมเป็นคนที่ชอบดร.สมิทธ มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว คาแรกเตอร์ของ ดร. สมิทธ น่าจะมีบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร โดดเด่นโดยบุคลิก โดยการพูด โดยการแสดงออก พูดโผงผางแต่จริงจัง และ ก็ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองคิด คิดอะไร รู้อะไรก็พูดไปตามนั้น ส่วนนักแสดงที่มารับบทนี้ก็คือ คุณ สุเชาว์ พงษ์วิไล แต่ว่ารูปร่าง หน้าตาจะไม่เหมือน เพราะนักแสดงไทยส่วนใหญ่จะหุ่นดี รูปร่างดี คาร์แรกเตอร์นี้ผมเลือกคุณสุเชาว์มาโดยที่ผมไม่เอาคนอื่นมาเป็นตัวเปรียบ

ผมประทับใจอาสุเชาว์อยู่ฉากหนึ่ง ก็คือ ฉากที่ดร. สยามต้องดำน้ำลงไปที่แล็ปใต้ทะเล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ดร.สยามสร้างขึ้นเพื่อวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวใต้ทะเลได้ คราวนี้ตอนถ่ายทำ เราต้องให้เขาดำน้ำในบ่อลึก 7 เมตร คุณสุเชาว์ไปถึงก็แต่งตัวใส่ชุดมนุษย์กบ ดำเมื่อไหร่ก็ก้นโด่งดำเมื่อไหร่ก็ก้นโด่ง ผมก็เห็นอยู่ว่ามันนานแล้ว ก็เลยพูดวิทยุสื่อสารถามผู้ช่วยว่าทำไมพี่สุเชาว์เขาไม่ดำซะทีวะ ทางโน้นก็บอกว่าอาเขาพยายามดำอยู่ครับ ดำเท่าไหร่ก็ไม่ได้ ผลสุดท้ายผู้ช่วยอีกคนมารายงานหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว อาไม่รู้เหรอพี่สุเชาว์เขาว่ายน้ำไม่เป็น ดำน้ำก็ไม่เป็น เราก็อ้าวเหรอ! แล้วทะลึ่งลงไปทำไมวะนั้น (หัวเราะ) แต่ก็สร้างความประทับใจในนักแสดงของผม “

 

 

…จากนักแสดงรุ่นใหญ่ที่เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว ทรนง ศรีเชื้อ ก็พยายามเฟ้นหาตัวนักแสดงรุ่นใหม่ๆ เรียกได้ว่าเป็นหน้าใหม่แกะกล่อง เพื่อมาถ่ายทอดบุคลิกของของคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดอนุรักษ์ ทุ่มเททำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือสังคมผ่านตัวละครต่างๆ เหล่านี้

ไพศาล ศรีมั่นคง (ใหม่) (รับบทเป็น “ภูเก็ต”) – ชายหนุ่มเลือดชาวใต้ ผู้มีอดีตฝังใจเกี่ยวกับ สึนามิ เขาสูญเสียพ่อและแม่ไปในเหตุการณ์มหันตภัยครั้งนั้น อดีตดันโหดร้ายกัดกร่อนจิตใจภูเก็ต เรื่อยมาจนเขามีอาการ โฟเบีย (อาการเกร็ง, ตัวสั่น เกิดภาพหลอนในอดีต) อันเนื่องมาจากความทรงจำในวัยเด็ก ภูเก็ตเป็นนักศึกษาทุนของศูนย์วิจัยและเตือนภัยของ ดร.สยาม ในระดับปริญญาเอก สาขา สัตว์วิทยา ด้านพฤติกรรมของสัตว์ป่าเขตร้อน

“ในอีกส่วนหนึ่งผมก็ตั้งดารารุ่นใหม่ขึ้นมา คนแรกที่จะพูดถึงคือคาร์แรกเตอร์ที่ชื่อ ภูเก็ต ได้ คุณใหม่ -พิศาล ศรีมั่นคง มาเล่น ซึ่งคุณใหม่เขาเป็นเด็กนอก เมื่อมาเมืองไทยเค้าค่อนข้างที่จะบ้องแบ๊ว คือเวลาที่เขามองเมืองไทยเขาจะมองแบบเมืองท่องเที่ยว เมืองแปลกตาเเราก็เลยได้สายตาเขาจริงๆ ซึ่งกว่าจะได้คุณใหม่มาเราก็แคสติ้งคนที่จะมารับบทนี้เป็นร้อย มีคนที่เล่นเก่งกว่าเขาเยอะ เขาเป็นตัวเลือกที่รองลงมา อยู่อันดับสามอันดับสี่ แต่สาเหตุที่ทีมงานทุกคนโหวตเขาขึ้นมา คือเวลาเขาทำอะไรแล้วเขารู้สึกอย่างที่เป็น เราเลยได้ความเป็นธรรมชาติของเขามา ซึ่งผมก็พอใจมาก”

 

 

สิรินดา เจนเซ่น (ซินดี้) (รับบทเป็น “ซินดี้”) – นักศึกษาปริญญาโท ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้รักธรรมชาติ และท้องทะเล เธอกำลังศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ทางทะเล เธอยังเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนและได้รับทุนวิจัย ของศูนย์เตือนภัยภาคพื้นเอเชียอีกด้วย ในอดีตแม่ของเธอได้หายสาบสูญไปกับคลื่นยักษ์สึนามิ เธอจึงยังเจ็บปวดกับอดีต และหวังว่าจะได้พบร่องรอยของแม่อีกครั้ง

“ผมฝันมานานแล้วว่าอยากได้นางเอกเป็นนักชีววิทยา อยากให้นางเอกว่ายน้ำกับปลาโลมา เพราะส่วนมากนางเอกในหนังทั่วไปจะแต่งตัวสวย เป็นคนดี พูดเพราะ ขับรถยี่ห้อที่ดีที่สุด แล้วก็จะไปจอดในโลเกชั่นดีๆ ผมอยากเห็นนางเอกผมแต่งตัวธรรมดา แล้วก็ว่ายน้ำกับปลาโลมาในทะเลแต่จริงๆ สุดท้ายผมก็ได้ คุณซินดี้- สิรินดา เจนเซ่น มารับบทนี้ แม่ว่าเขาอ่านภาษาไทยไม่ออกแต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะเราก็จดคาราโอเกะให้เขา แล้วก็มีคนอธิบายคาราโอเกะให้เขาเข้าใจความหมาย เมื่อถ่ายเสร็จแล้วเราก็ถือว่าเขาทำได้ สอบผ่านอย่างน่าประหลาดใจ ซินดี้จำได้หมด ถ้าเขามุ่งมั่นที่เอาดีทางการแสดงนะไปได้ดีมาก โดยเฉพาะเขาสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นการนำหนังไทยออกนอกได้ทางหนึ่ง”

 

 

นิชาภา ประกรณ์กิจวัฒนา (นิชา) (รับบทเป็น “พี.พี.”) – หลานสาวแท้ๆ ของ ดร.สยาม เธอเสียพ่อตั้งแต่เธออายุ 2 ขวบ และอาศัยอยู่กับดร.สยาม ปู่ของเธอ เธอจึงได้รับการปลูกฝังให้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากปู่ของเธอ พี.พี. เปรียบเสมือนเงาของ ดร.สยาม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความรู้ความสามารถที่พร้อมที่จะทำงานเพื่อสังคม เธอจึงอุทิศตัวเป็นอาสาสมัครของบลูเพลนเน็ท ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมโลก

“ตัวละครอีกตัวก็คือ พี.พี. เราได้นักแสดงหน้าใหม่มาชื่อ ควีน – นิชาภา ประกรณ์กิจวัฒนา นักแสดงคนนี้ก็เป็นคนที่มีความสามารถสูงทีเดียว เขาเป็นคนปักษ์ใต้ เราให้เขามาแคสติ้ง ผมถามเขาว่า คุณรู้ เรื่องเหตุการณ์สึนามิไหม เขาบอกว่าเขากลัวมาก เขาก็เล่าความรู้สึกที่เขามีต่อสึนามิ เขาใช้เวลาเล่าแค่ 5 หรือ 10 นาที เท่านั้นเอง เขาก็ร้องไห้ฟูมฟายเป็นบ้าเป็นหลังไปเลย ซึ่งเราก็พอใจมาก ซึ่งถามว่าทำไมถึงร้องไห้ขนาดนั้น เขาบอกว่าเวลาคิดถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อไหร่เขาก็เสียใจเมื่อนั้น เขากลัวมากๆด้วย แล้วเราก็ถามเขาว่าถ้าเราให้เล่นเรื่องนี้คุณจะรู้สึกยังไง เขาก็บอกว่าเขารู้สึกจริงจังกับมัน เขาอยากเล่นหนังเรื่องนี้ อย่างน้อยก็มีส่วนร่วมในสึนามิไม่ว่าจะเกิดครั้งไหนก็แล้วแต่ เมื่อเวลาผ่านไปพอเราได้ร่วมงานกัน เราอยากจะบอกว่าเด็กคนนี้ทำได้ดีกว่านักแสดงหลายคน”

 

 

ปริญญา วงษ์ศิลป์ (หนุ่ม) (รับบทเป็น “ราไว”) – หนุ่มมอแกน รุ่นใหม่ที่ไม่หลงใหลวัฒนธรรมตะวันตก เขามั่นคงกับวิถีชีวิตชาวมอแกนดึกดำบรรพ์ ด้วยการปลูกฝังของผู้นำเผ่า ผู้เฒ่าเก ราไวปกป้องถิ่นฐานตัวเองจากนายทุน และอิทธิพลนักการเมืองที่ต้องการที่ดินและเกาะเก่าแก่ของชาวมอแกน ราไว และชาวบ้าน ช่วยกันต้านอิทธิพลเถื่อนอย่างสุดชีวิต โดยมี พี.พี. ซินดี้ และภูเก็ต เป็นแนวร่วม

“มันมีคาแร็คเตอร์อีกอันหนึ่ง ที่ผมสนใจและไม่อยากทิ้งก็คือชาวมอแกน ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับสึนามิหรือท้องทะเล ผมจะทิ้งชาวเล หรือชาวมอแกนไม่ได้เลย เราก็เอาชาวมอแกนมาใส่ไว้ในเรื่องนี้ เพราะคนเหล่านี้เป็นเจ้าของท้องถิ่น เขาเป็นเจ้าของทะเล เขาอยู่กับทะเลมากกว่า พวกนี้น่าจะให้คำตอบกับหนังได้ว่าจะเกิดสึนามิเมื่อไหร่ มันก็มีชาวมอแกนรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ อย่างชาวมอแกนรุ่นเก่าจะรู้ไสยศาสตร์ รู้เรื่องภูมิหลังของธรรมชาติ ในขณะที่ชาวมอแกนรุ่นใหม่จะไม่สนใจ ก็จะเหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไป ก็คือตัว ราไว ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มชาวมอแกนที่มีความมุทะลุ อาศัยอยู่ในเกาะเล็กๆของเมืองไทย บุคลิกนี้ก็มอบให้กับนักแสดงคนหนึ่ง ซึงเลี่ยงไม่ได้เลยต้องเอาคนปักษ์ใต้เล่น ก็ได้ หนุ่ม -ปริญญา วงษ์ศิลป์ ก็ต้องผ่านแคสติ่งเหมือนกัน ที่ผ่านคือ 1.เขาเป็นคนใต้พูดภาษาปักษ์ใต้ 2.บุคลิกดูดี 3.เราให้เขาโกนหัว เขายอม 4.เขาว่ายน้ำดำน้ำได้ 5. เขาสนใจที่จะเล่นหนังเรื่องนี้ โดยเค้ายอมไปตากแดดตากร้อนกับเรา 7 วันก่อนเข้ากล้อง ทุกครั้งที่มีการถ่ายทำ ซึ่งเราก็พอใจที่นักแสดงทุ่มเท”

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น