Home » » แฟนฉัน

แฟนฉัน

แฟนฉัน



ชื่ออื่นๆ :     My Girl : Fan Chan
ผู้กำกับ :     ทรงยศ สุขมากอนันต์,  คมกฤษ ตรีวิมล,  นิธิวัฒน์ ธราธร,  วิทยา ทองอยู่ยง,  วิชชพัชร์ โกจิ๋ว,  อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
ผู้แต่ง :      วิทยา ทองอยู่ยง,  อมราพร แผ่นดินทอง

เรื่องย่อ แฟนฉัน

ภาพแห่งอดีต จริงๆ แล้วมันไม่เคยจากไปไหน มันอาจจะซุกอยู่ที่ซอกหนึ่ง ในลิ้นชักความทรงจำ และอยู่อย่างนั้นมาตลอด จนความทรงจำใหม่ๆ เข้ามาทับ เข้ามาซ้อน ดันมันไปจนสุดลิ้นชัก แต่เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเพลงอย่างนี้แว่วมา หรือเห็นรูปภาพสีเหลืองๆ แดงๆ เก่าๆ ความทรงจำในครั้งนั้น ก็เหมือนถูกมือซนๆ หยิบมันออกมาปลุกให้กลับมามีชีวิต… อีกครั้งหนึ่ง

ทุกคนคงมีภาพความทรงจำในวัยเด็กกันทั้งนั้น เหมือนกันในรูปแบบ ต่างกันในรายละเอียด มีสิ่งที่ชอบเล่นเหมือนกัน ผู้ชายอาจจะมีขี่จักรยาน เป่ากบ ผู้หญิงอาจจะมีกระโดดยาง เล่นขายของ …แต่ผมมีทั้งสองแบบ บางคนอาจจะขลุกอยู่หน้าจอทีวี กับลีลาสุดเท่ของยอดมนุษย์ หรือจอมยุทธจากหนังจีนกำลังภายใน ในขณะที่บางคนอาจจะชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน เที่ยวเล่นจนตัวดำ ออกจากบ้านตั้งแต่เช้า กลับมาอีกทีก็เมื่อฟ้ามืด …แต่ผมเป็นทั้งสองแบบ บางคนอาจจะมีเพื่อนเป็นแก๊งค์ลิงทะโมนอยู่กลุ่มใหญ่ ที่พากันดื้อซนจนแม่ๆ เอือมที่จะด่า ในขณะที่อีกคนกลับมีเพื่อนน้อยมาก เพื่อนที่ซี้ที่สุดอาจจะมีแค่คนเดียว และเป็นเด็กผู้หญิงแก่นกะโหลกด้วยก็มี …และผมก็มีทั้งสองแบบ

น้อยหน่า คือชื่อเด็กผู้หญิงคนนั้น เธอเป็นเพื่อนผมมาตั้งแต่ยังเล็ก เพราะบ้านเราอยู่ติดกัน แถมละแวกบ้านเรา ยังไม่ค่อยมีเด็กวัยเดียวกันอีก เราจึงเล่นด้วยกัน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการละเล่นแบบผู้หญิง พวกกระโดดยาง เล่นขายของก็ตาม ผมก็สนุกที่จะเล่นกับเธอ จนกระทั่ง…ผมเริ่มโต เริ่มอยากเล่นแบบเด็กผู้ชายที่มันโลดโผนบ้าง ถึงขนาดไปขอเข้าแก๊งค์เด็กผู้ชาย ที่เป็นคู่อริกับน้อยหน่าก็ยอม พวกมันยื่นคำขาด ให้ผมพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายให้มันเห็น ลูกผู้ชายที่เข้มแข็ง สามารถเอาชนะศัตรูได้ และศัตรูของพวกมันก็คือน้อยหน่า และเด็กๆ ผู้หญิงละแวกนั้น …ผมยอมทำ นั่นทำให้น้อยหน่าโกรธผม และอาจจะถึงขั้นเกลียดเลยก็ได้ และที่สำคัญก็คือ ผมไม่มีโอกาสได้ขอโทษเธอ เพราะไม่กี่วันต่อมา เธอก็ย้ายบ้านไปที่อื่น คนละจังหวัดกัน และไม่ได้เจอเธออีกเลย

วันนี้ เธอส่งการ์ดงานแต่งงานมาให้ที่บ้านผม สิบกว่าปีที่เราไม่ได้เจอกัน เธอยังจำเพื่อนคนแรกของเธอได้ ลิ้นชักของเธอคงเป็นระเบียบกว่าของผมเยอะ ไม่รู้ว่าเธอจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือว่าเห็นหน้าผมแล้วเธออาจจะงง ว่าไอ้ชายหนุ่มคนนี้ เป็นคนเดียวกับเด็กชายคู่หูเธอคนนั้นหรือเปล่า แต่ผมก็จะไปงานแต่งงานเธอ เพื่อนซี้เมื่อสิบขวบของผม…แน่ๆ

นักแสดง:

ชาลี ไตรรัตน์ (แน็ค) รับบท “เจี๊ยบ”

โฟกัส จีระกุล (กัส) รับบท “น้อยหน่า”

เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ (แจ๊ค) รับบท “แจ๊ค”

ธนา วิชยาสุรนันท์ (ตันตรานนท์) (อ๋อง) รับบท “พริก”

ตรีวรัตถ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย (เกตต์) รับบท “บอย”

หยก ธีรนิตยาธาร (หยก) รับบท “มาโนช”

อภิชาญ เฉลิมชัยนุวงศ์ (ออฟ) รับบท “ตี่”

ภานุชนารถ สีหะอำไพ (น้ำผึ้ง) รับบท “เงาะ”

หัทยา รัตนานนท์ (ไหม) รับบท “จุก”

สุวรี วรศิลป์ (เอิร์ธ) รับบท “กิมเตียง”

มัธณา ใจเย็น (เฟิร์สท์) รับบท “โอเล่”

วงศกร รัศมิทัต (ต้น แมคอินทอช) รับบท ชาญ (พ่อของเจี๊ยบ)

อนุสรา จันทรังษี (กบ) รับบท แม่ของเจี๊ยบ

ปรีชา ชนะภัย (เล็ก คาราบาว) รับบท สมัย (พ่อของน้อยหน่า)

นิภาวรรณ ทวีพรสวรรค์ (ไก่ 18 กะรัต) รับบท แม่ของน้อยหน่า

ชวิน จิตรสมบูรณ์ (จั๊ก) รับบท “เจี๊ยบ” (ตอนโต)


วันที่เข้าฉาย: 3 ตุลาคม 2546

ที่มา: บริษัทผู้สร้าง แกรมมี่ภาพยนตร์

หลังบ้าน “แฟนฉัน”

แฟนฉัน สเปเชี่ยล ตอนที่ 1 : หลังบ้าน “แฟนฉัน”
เขียนโดย Deknang
อาทิตย์, 21 กันยายน 2003

”เข้าตามตรอก ออกตามประตู” คือ สำนวนที่คนโบราณเขาใช้เป็นฐานในการมีชีวิตคู่ ซึ่งจะใช้ได้กับคนสมัยนี้หรือไม่นั้น อย่าเพิ่งไปสนใจกันเลย นั่นไม่ไช่ประเด็น เพราะเรากำลังพาแฟน ๆ ป๊อปคอร์นไปฟังเหล่าขุนพลที่เป็นกำแพงตั้งตระหง่านอย่างมั่นคงอยู่เบื้องหลัง พูดถึงหนังไทยเรื่องที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้”แฟนฉัน”…

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เกิดขึ้นจากการที่ 3 ยักษ์บันเทิงไทยอย่าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส ที่พรั่งพร้อมด้วย แผนการตลาด และโฆษณา, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดจำหน่าย และหับโห้หิ้น ฟิล์ม ที่อัดแน่นด้วยทีมงานการสร้างภาพยนตร์ ระดับแนวหน้า ร่วมมือ ร่วมใจกันทำงาน เพื่อต้องการให้วงการภาพยนตร์ไทยได้มีหนังเด็ก น่ารัก ๆ ใส ๆ และให้ผู้ชมได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความสุข…

“ผมคิดว่า สำหรับหนังเรื่องนี้ ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในการทำงาน ไม่ว่ารายได้จะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้คือ ชื่อเสียง หนังแบบนี้หายไปนานแล้ว เพราะหนังเด็กเป็นหนังต้องห้ามชนิดหนึ่งของวงการหนังไทย แต่วันนี้คนดูเปลี่ยนไป ความเสี่ยงอาจจะกลายมาเป็นโอกาส”… (วิสูตร พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์)

“การร่วมลงทุนระหว่าง 3 บริษัท ถือเป็นการรวมพลัง ในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น และได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมา การที่จะสร้างอะไรสักอย่างให้ใหญ่โตในอนาคต การร่วมมือกัน การประสานงานกันที่ดีด้วยความเป็นมิตรภาพ มิตรภาพจะพาไปสู่ความยิ่งใหญ่”… (ชูพงษ์ รัตนบัณฑูร กรรมการผู้จัดการ จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส)

“เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความสามารถ มีความถนัดกันคนละอย่าง หับโห้หิ้น ฟิล์ม มีความถนัดในการผลิต มีคน มีบทที่ดี พร้อมที่จะทำหนัง จีเอ็มเอ็ม ให้โอกาสแก่คนที่ทำงานใหม่เกิดขึ้นในวงการมีศักยภาพที่ดีในการใช้สื่อ ไทเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ต้นตำรับการทำหนังไทย”… (จินา โอสถศิลป์ กรรมการผู้จัดการ หับโห้หิ้น ฟิล์ม)

“เรื่องนี้ผมชอบตั้งแต่ร่างแรกที่อ่านเลย บางตอนนี่เหมือนมีก้อนอะไร เหมือนมีหัวเด็กมาอยู่ที่คอหอย รู้สึกหลายตอนมาก ก็ปรับแก้กันมาหลายครั้ง อยากเห็นหนังเร็ว ๆ  พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ของวงการที่ต้องการทำหนังไทยที่สามารถ สื่อสารกับคนไทยออกมาเป็นหนังไทย ให้คนไทยดู ที่ทำให้ผมตัดสินใจ ว่าจะฝากผีฝากไข้กับพวกเขาได้”… (จิระ มะลิกุล – โปรดิวเซอร์)

“ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่า ความรู้สึกของคนเรานั้นเป็นสิ่งมีค่าอย่าละเลยมัน แต่ละวันที่ผ่านไป มันเหมือนก้อนหินที่มันเรียงขึ้นมา วันไหน ที่ก้าวขึ้นมาสูง ๆ แล้วอยากจะให้นึกถึงความรู้สึก ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า เมื่อตอนที่เราเรียงหินก้อนแรกขึ้นมา มันจะมีความสุขมาก และถ้ามีโอกาส อยากจะกลับไปเจอความรู้สึกดี ๆ แบบนั้นอีก”… (ยงยุทธ ทองกองทุน – โปรดิวเซอร์)

“เราสามคน แยกกันดูแล พี่เก้ง เขาจะช่วยในเรื่องของบท และทิศทางของหนังว่าจะเป็นแนวไหน ส่วนสินจะช่วยน้องดูเรื่องการกำกับฯ เพราะสินเขาจะมีมุมมองต่าง ๆ ส่วนผมจะบริหารจัดการเรื่องงบประมาณ คอยคอนโทรลงบให้ลงตัว เรายินดีที่จะซัพพอร์ตให้ แต่บางครั้งก็ต้องมีการแลกกันบ้าง ให้เขาได้ในสิ่งที่เขาคิด เพราะผมอยากจะให้น้อง ๆ เขาทำงานจากความเป็นจริง รู้จักการควบคุมงบประมาณ ไม่อยากให้พวกเขามีความกดดันในการทำงาน เขาจะได้คิดอะไรได้เต็มที่ ผมให้เครดิตนักแสดงเด็กนะครับ เล่นดีเกินความคาดหมาย ผมชอบความสด ความบริสุทธิ์ของพวกเขาที่ไม่ได้ถูกเทรนมา ให้เป็นนักแสดง”… (ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์ – โปรดิวเซอร์)

เราเป็น “แฟน” กันได้อย่างไร

แฟนฉัน สเปเชี่ยล ตอนที่ 2 : เราเป็น “แฟน” กันได้อย่างไร

เขียนโดย Deknang
จันทร์, 29 กันยายน 2003

“มากคนมากความ” คือ สำนวนที่ทำให้เห็นภาพในแง่ลบของความวุ่นวายที่ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้น ๆ แต่กับเรื่อง “แฟนฉัน” นี้ ถึงจะมากความมากคน แต่มันก็คงให้ผลลัพธ์ในแง่บวกมากกว่า

ต้น ผู้รับหน้าที่ตัดต่อหนังเรื่องนี้เล่าว่า “การทำงาน 6 คน ผมว่ามันทำให้งานละเอียดขึ้น บางรายละเอียดที่เราไม่เคยคิด แต่เพื่อนมันคิด พอเราเถียงเพราะเราไม่ชอบ เป็นเรื่องของรสนิยม แต่พอเราทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง เออ…มันก็ดีนะ มันกลายเป็นแบบนี้มากกว่าที่ใครจะมองว่าทำงาน 6 คนแล้วมันมีปัญหา เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า พอมันมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแล้ว มันไม่ใช่งานของเราคนเดียว เราทำงานด้วยระบบแบบนี้ และเราก็ใหม่ด้วย แต่เราต้องการคนที่เข้ามาช่วยเสริมเราด้วย พอทำไปเรื่อย ๆ บรรยากาศในการทำงานมันดี เรายอมรับกัน เราพร้อมที่จะฟังกัน”

“เห็นพวกเขามานาน เป็นกลุ่มคนที่รักหนังจริง ๆ ตอนที่เรียนเคยให้เขาทำโปรเจ็คท์หนังส่ง งานของแต่ละคนก็จะมีชื่อของ ห้า หก คนนี้ หมุนเวียนอยู่ในเครดิต พวกเขาผลัดกันมาช่วยทำงานให้เพื่อน รู้สึกดีมากเลย ก็เลยอยากจะให้เขามีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน” เก้ง – จิระ มะลิกุล โปรดิวเซอร์ของหนัง พูดถึงกลุ่มเพื่อนสนิท 6 คน จากรั้วนิเทศ จุฬา ก่อนที่พวกเขาจะมีโอกาสผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับหนังใหญ่ครั้งแรก

ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร
เอส-คมกฤษ ตรีวิมล
บอล-วิทยา ทองอยู่ยง
ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์
เดียว-วิชชา โกจิ๋ว

“ตอนที่วางโครงบท เป็นผมที่คอยดูแลโครงใหญ่ โดยมีเพื่อน ๆ ให้คอมเม้นท์ พอโครงใหญ่ของบทเสร็จ พวกเราก็มาสุมหัวกันเขียนบท โดยมาอยู่กันที่บ้านของต้น ใช้เวลาเขียนบทอยู่นาน โชคดีที่เป็นช่วงฟุตบอลโลก การทำงานของพวกเขาเลยไม่น่าเบื่อหน่าย เครียดจากเขียนบท ก็มานั่งเชียร์บอล” บอลเล่าถึงขั้นตอนการเขียนบท

เดียว (หนึ่งในนักเขียนของนิตยสาร pulp) เล่าถึงการหานักแสดงตัวน้อยว่า “จริง ๆ แล้วงานแคสติ้ง ผมไม่ถนัดเลย ไม่เคยทำ แต่อยากลอง และคิดว่าหน้าที่นี้สำคัญมาก ก่อนจะเริ่มในงาน โปรดักชั่นจริง ๆ ก็เลยชวนย้งไปตระเวนหานักแสดงเด็กทั่วโรงเรียนใหญ่ ๆ ในกรุงเทพ จนแทบหมดแรง แต่หลังจากเดินกันมาทั้งวัน ก็ไปพักหาน้ำหาท่ากินในโรงเรียนแม่พระฟาติมา แต่เหมือนฟ้าประทานมาให้ เพราะหันไปเห็น น้องแน็ค – ชาลี ไตรรัตน์ พระเอกของเรื่องกำลังเล่นบอลอยู่กลางสนาม ก็เลยรีบเข้าไปติดต่อเพื่อมาแคสติ้งหนังเรื่องนี้ทันที และพอได้คุยกับผู้ปกครองถึงได้ทราบว่า เคยแสดงหนังเรื่อง กาลครั้งหนึ่ง เมื่อเช้านี้ มาก่อน ตอนเป็นเด็ก”

“เราตั้งโจทย์ โลเคชั่นหลักคือบ้านสามหลังในเรื่องก่อน ดูจากบ้านเป็นสิ่งแรก หาโลเคชั่นอยู่กว่า 20 จังหวัด ที่แรกที่เลือกคือจันทบุรี มีโลเคชั่นใกล้เคียงบท แต่ไปดูแล้วไม่ได้ จังหวัดที่ไม่ติดทะเลก็ไปอย่างสุพรรณบุรี บางแห่งติดถนน อย่างที่ราชบุรี ชอบมากแต่เจ้าของบ้านนอนป่วยอยู่คนเดียว ก็คุยถึงขั้นจะย้ายเขาไปอยู่กับคนอื่นแล้ว แต่กลัวว่าระหว่างถ่ายทำไปเขาเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ก็เลยไม่เอา ก็มาได้ที่เพชรบุรี เป็นโกดังร้างมาตกแต่งใหม่ ก็เลยมีปัญหาเรื่องการเดินทาง เพราะเด็กที่เราไปดูตัวมา บางคนเราได้มาจาก ชลบุรี เพราะตอนแรกคิดว่าจะถ่ายทำแถวชลบุรี ก็เลยต้องเดินทางกันข้ามจังหวัด ข้ามภาคกันเลย” ปิ๊งกับเอสออกมาเล่าถึงการหาโลเคชั่นถ่ายทำบ้าง

เอสในฐานะแอ๊คติ้งโค้ชของเรื่องเล่าต่อว่า “แรก ๆ เด็ก ๆ ก็ไม่สนิทกัน ก็ทะเลาะกัน มีการง่วงนอนทะเลาะกัน การดุหรือเสียงดังจะเป็นวิธีสุดท้ายที่ผมจะทำกับเด็ก ๆ บางทีเขางอแง และจะต้องถ่ายแล้ว ก็ต้องมีการใช้ความเหี้ยมโหดกับเด็กบ้าง เวลาพักก็จะพูด ๆ ดีกับเขา ให้เหตุผลเขา มันเป็นการใช้ชีวิตร่วมกัน กลับโรงแรมเด็ก ๆ ก็จะมาวิ่งทำลายห้องผู้กำกับฯ เล่นซ่อนแอบ เราจะสนิทกัน อยู่กันแบบครอบครัว ทุกคืนจะต้องนั่งคุยกันแล้วก็ซ้อมบทกัน เราจะไม่ให้เขาท่องบท เพราะถ้าให้ท่องเขาจะพูดออกมาเป็นคำ ๆ เหมือนท่องหนังสือ ก็เลยคอยบอกบทให้เวลาเขามาเข้าฉาก โดยภาพรวของการแสดง เราชอบมาก เด็กทุกคนเป็นคาแร็คเตอร์ของเขา เราไม่ได้เอาเขามาเล่นเป็นคนอื่น”

ย้ง ผู้รับหน้าที่ตากล้อง เล่าให้ฟังว่า “เพื่อน ๆ ทุกคนค่อนข้างไว้ใจผมและปล่อยให้ผมจัดการกับเฟรมภาพแต่ละเฟรม ซึ่งตรงนี้รสนิยมของเราค่อนข้างใกล้ เคียงกัน เพราะผมเคยถ่ายงานหนังสั้นให้พวกเขามาทุกคนแล้ว ก็เลยรู้ทางกัน มีฉากที่ยากคือฉากที่ผมต้องถ่ายกล้องหมุนรอบ 360 องศา ซึ่งปกติผมจะถ่ายกล้องนิ่ง ๆ มากกว่า ก็เลยไม่ชิน พี่เก้งเลยบอกว่า ให้ยืนจุดสุดท้ายให้มั่นคงที่สุด ซึ่งก็แทบแย่เหมือนกัน เล่นเอาเหนื่อย หอบไปเลย เพราะต้องกลั้นหายใจเพื่อไม่ให้กล้องสั่น และต้องทำงานแข่งกับเวลา แข่งกับแสงที่จะหมดลงเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน”

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น